ประชาสัมพันธ์

สสจ.เลย เร่งฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ลดผู้ป่วย2,000 รายต่อปี

วันที่ 8 พ.ย. 2566 เวลา 13.30 น. ที่โรงเรียนหฤทัยคริสเตียน อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย นายสิริพงษ์ วัฒนศรีทานังรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย ด้านส่งเสริมพัฒนาเป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) จังหวัดเลย มีผู้อำนวยการโรงเรียนหฤทัยคริสเตียน คณะผู้บริหารโรงเรียน หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สาธารณสุขอำเภอหนองหิน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหนองหิน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอหนองหิน และนักเรียนหญิงโรงเรียนหฤทัยคริสเตียน จำนวน 166 คน เข้ารับบริการ

นายนิเทศน์ บุตรเต หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ ด้านส่งเสริมพัฒนา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย กล่าวรายงานว่า โรคมะเร็งปากมดลูก พบมากเป็นอันดับสองในหญิงไทยรองจากมะเร็งเต้านม จากระบบเฝ้าระวังโรคมะเร็งของประเทศไทย พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ ประมาณ 6,500 รายต่อปีและมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก ประมาณ 2,000 รายต่อปี ซึ่งโรคนี้ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแปบปิโลมา (Human Papillomavirus) หรือเชื้อเอชพีวีชนิดก่อมะเร็งแบบฝังแน่น และมีอย่างน้อย 15 สายพันธุ์ ทำให้เซลล์ปากมดลูกความผิดปกติ และเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง การติดเชื้อเอชพีวีส่วนใหญ่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยอัตราการติดเชื้อจะสูงสุดในวัยรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้น การติดเชื้อไวรัสนี้จะใช้เวลา 10-15 ปี ในการพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยไม่แสดงอาการใดๆ ในระยะเริ่มติดเชื้อ

ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการ สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 มีมติแนะนำการฉีดวัคซีนเอชพีวี ในหญิง อายุ 11-20 ปี จำนวน 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน :โดยกิจกรรมในวันนี้ ภายใต้สโลแกน “สวย เริ่ด เชิดสู้มะเร็ง” โดยมีกลุ่มเป้าหมาย นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 108 คน และนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 57 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 166 คน ของโรงเรียนหฤทัยคริสเตียน และได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี

ซึ่งวัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเอชพีวี มุ่งหวังผลในการลดการเจ็บป่วย และเสียชีวิตด้วยมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย โดยวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) จะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกในผู้ที่ยัง ไม่พบการติดเชื้อมาก่อนอยู่ระหว่างร้อยละ 93-95