ประชาสัมพันธ์

บุรีรัมย์ ชาวนานำข้าวเปลือกตากบนถนนยาวกว่า 1 กม.ไล่ความชื้นหลังนำข้าวสดไปขายเพื่อจ่ายค่ารถเกี่ยวโดนกดราคาเหลือ 8-10 บาท

ชาวนาใน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ต้องนำข้าวเปลือกไปตากบนถนนทางหลวงชนบทยาวกว่า 1 กม. เพื่อไล่ความชื้น หลังนำข้าวเกี่ยวสดไปขายเพื่อนำเงินไปจ่ายค่าปุ๋ยและค่าจ้างรถเกี่ยว แต่โดนกดราคาเหลือแค่ ก.ก.ละ 8 – 10 บาท บางที่ไม่รับซื้ออ้างมีข้าวปน โอดรัฐบาลอนุมัติช่วยค่าเก็บเกี่ยวล่าช้าจึงจำเป็นต้องขายก่อนแม้ได้ราคาต่ำ วอนรัฐประกันราคา ก.ก.ละ 15 – 18 บาท ถึงจะอยู่ได้เพราะต้นทุนสูง

วันที่ 15 พ.ย. 2566 ชาวนาหลายหมู่บ้านในตำบลเมืองโพธิ์ อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ต่างนำข้าวเปลือกออกไปตากตามริมถนนทางหลวงชนบทเป็นทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร เพื่อลดความชื้นก่อนจะนำเข้าไปเก็บในยุ้งฉาง หรือนำไปขายตามโรงสี หลังจากชาวนาหลายคนนำข้าวเปลือกที่เกี่ยวสดไปขาย เพื่อจะนำเงินไปจ่ายค่าปุ๋ย และค่าจ้างรถเกี่ยว แต่โดนกดราคาเหลือแค่กิโลกรัมละ 8 – 10 บาท ขณะที่บางรายก็ไม่รับซื้อเพราะผู้ประกอบการอ้างว่ามีข้าวปน ชาวนาบางคนจึงต้องขนข้าวกลับมาตากเพื่อไล่ความชื้นก่อนจะนำกลับไปขายอีกครั้ง แต่บางคนก็ตัดสินใจขายข้าวสดแม้จะได้ราคาต่ำไม่คุ้มทุนก็ตาม เพราะจำเป็นต้องนำเงินไปจ่ายค่าจ้างรถเกี่ยว เนื่องจากรอเงินค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท จากรัฐบาลไม่ไหว ทั้งนี้ชาวนายังบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าปีนี้ต้นทุนในการทำนาสูงกว่าทุกปี เพราะปุ๋ยแพง น้ำมันแพง จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการประกันราคาข้าวไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 15 – 18 บาท เพราะมาตรการแทรกแซงราคากิโลกรัมละ 12 บาท ก็ยังไม่คุ้มทุน

นายทีน พนมรัมย์ ชาวนาบ้านเมืองโพธิ์ อ.ห้วยราช บอกว่า ที่ต้องนำข้าวเปลือกมาตากบนถนนเพื่อลดความชื้น ก่อนจะนำไปขาย เพราะก่อนหน้านี้มีชาวนาหลายคนนำข้าวเกี่ยวสดไปขายตามโรงสีแล้วได้ราคาต่ำเพียงกิโลกรัมละ 8 – 10 บาทเท่านั้น เพราะทางโรงสีบอกว่าข้าวเปียกชื้นก็รับซื้อได้ในราคานี้ ตนจึงตัดสินใจเอาข้าวเปลือกมาตากตามริมถนนเพื่อลดความชื้น ก็อยากขอความเห็นใจจากผู้ใช้รถใช้ถนนด้วย เพราะไม่มีสถานที่ตาก หากเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐบาลออกมาตรการประกันราคาข้าวไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 15 – 18 บาทมากกว่ามาตรการแทรกแซงราคากิโลกรัมละ 12 บาท เพราะปีนี้ต้นทุนทั้งค่าปุ๋ย ค่าน้ำมัน ค่าเก็บเกี่ยวสูงมาก

นางสำเริง นิโรรัมย์ ชาวนาอีกราย บอกว่า ก่อนหน้านี้ได้นำข้าวที่เกี่ยวสดไปขายแต่ได้ราคาต่ำเพียงกิโลกรัมละ 10 บาท แม้จะไม่คุ้มทุนแต่ก็จำเป็นต้องขายเพราะต้องนำเงินไปจ่ายค่าจ้างรถเกี่ยว เพราะรอเงินค่าเก็บเกี่ยวจากรัฐบาลไม่ไหว ก็อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือโดยออกโครงการประกันราคาข้าวไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 15 – 18 บาท ถึงจะอยู่ได้เพราะปีนี้ต้นทุนทำนาสูงมาก โดยเฉพาะค่าปุ๋ยแพงขึ้นเกือบเท่าตัว ค่าจ้างรถเกี่ยวไร่ละ 600 บาท และต้องจ้างคนมานอนเฝ้าข้าวอีก