ประชาสัมพันธ์

สุรินทร์ สีสันสุดสนุกเฮฮาวิถีชาวบ้านกับการประเพณีแห่กฐินทางน้ำ และแข่งพายเรือกระด้ง

สีสันสุดเฮฮา อบต.น้ำเขียว แห่กฐินทางน้ำด้วยเรือ พร้อมจัดแข่งเรือกระด้งหนึ่งเดียวในไทย และเรือเร็ม หรือเรือยาวขนาดเล็ก 8 ฝีพาย อดีต สว.ให้การสนับสนุน พร้อมวางแผนส่งเสริมอนุรักษ์เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนในอนาคต

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ริมท่าน้ำวัดอรุณโรจน์ หมู่ที่ 5 บ้านอาจญา อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ อบต.น้ำเขียว ได้จัดให้มีการแห่กฐินทางน้ำด้วยเรือเล็ก เรือยาว และเรือภูมิปัญญาของชาวบ้านในพื้นที่ นั่นคือ เรือกระด้ง ซึ่งเป็นเรือที่ทางอบต.น้ำเขียว กำลังรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้รองรับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน โดยมีนายนุรุทธิ์ เจริญพันธ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในจัดกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งในทุกปี อบต.น้ำเขียว ได้จัดให้มีการแห่กฐินทางน้ำด้วยเรือในช่วงเทศกาลออกพรรษา เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยได้ร่วมอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นกับสายน้ำให้อยู่สืบไป พร้อมทั้งส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่กับกับการท่องเที่ยววิถีชุมชน โดยจะให้มีการแข่งขันพายเรือเล็กเทียผู้ใหญ่บ้าน ที่สร้างเสียงจากกองเชียร์อย่างสนุกสนาน อีกทั้งยังมีการแข่งขัน “เรือเข็ม” หรือเรือเล็กขนาด 8 ฝีพาย ชิงถ้วยและเงินรางวัล และการแข่งขันพายเรือกระด้ง ที่เป็นสีสันไฮไลน์ของงาน ที่เหนื่อยทั้งคนพาย คนพากย์ และกองเชียร์ ที่ลุ้นเอาว่าจะพายตรง พายวน พายเฉียง หรือเรือจะคว่ำ เพราะเรือกระด้งมีลักษณะกลมและโคลงเคลง ถ้าไม่ชำนาญในการพายก็จะยากและหมุนจนเวียนหัว ซึ่งสร้างเสียงหัวเราะและสนุกสนานให้กับกองเชียร์ทั้งสองริมฝั่งน้ำ

นายสันชัย สมล้วน นายก อบต.น้ำเขียว บอกว่าทาง อบต.น้ำเขียว ได้จัดให้มีการแข่งขันพายเรือเล็ก 8 ฝีพาย เรือเข็ม เรือกระด้ง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมทางสายน้ำ โดยมีนายนุรุทธิ์ เจริญพันธ์ อดีต ส.ว. และ นางกรรณิกา เจริญพันธ์ อดีต ส.ส. ที่ให้การสนับสนุนผลักดันและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ในการแข่งขันและวิถีชาวบ้าน คือ การใช้ลากข้าวนาปรังออกจากพื้นที่น้ำท่วมซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก และการจัดงานในปีนี้ถือเป็นการใช้พื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมืองเกือบ 100 ล้านบาท ในการพัฒนาก่อสร้างบริเวณพื้นที่บ้านกุดนาแซงแห่งนี้ เป็นการพัฒนาพื้นที่แบบก้าวกระโดด และวางแผนพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของทั้งสายมู วัฒนธรรมของสายน้ำและวิถีชุมชน ให้เป็นแหล่งที่รู้จักทั้งคนสุรินทร์และทั่วประเทศ

นายสันชัย นายก อบต.น้ำเขียว กล่าวต่อด้วยว่า เรือกระด้งตอนนี้มีอยู่เกือบ 20 ลำ ได้วางแนวทางผ่านข้อบัญญัติด้วยว่า จะสนับสนุนการสอนจักสานเรือกระด้งจากวิทยากรผู้มีความรู้ โดยใช้ไม้ไผ่ที่เป็นวัตถุดิบที่มีมากตามธรรมชาติในพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้มีหลายชุมชนให้ความสนใจ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่นี้และพื้นที่ใกล้เคียง ถือว่าจะเป็น OTOP ตำบลน้ำเขียวในโอกาสต่อไป

นายนุรุทธิ์ เจริญพันธ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสนับสนุนก็ต้องประสานกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพื้นที่นี้และใกล้เคียงมีความสามัคคีกัน พร้อมที่จะพัฒนาตนเองและหมู่บ้านรองรับนักท่องเที่ยว ก็ยินดีที่จะประสานทุกหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือต่อไป

ทั้งนี้ หมู่บ้านอาจญา ถือเป็นหมู่บ้านที่มีเรือยาว และนักพายเรือคนสำคัญ ที่เดินทางไปแข่งขันไปทั่วทุกสนามของประเทศไทย นอกจากเรือยาวยาว ที่สำคัญทางหมู่บ้านได้ มีการจัด “แข่งขันเรือกระด้ง” ซึ่งเป็นเรือที่ชาวบ้านใช้เป็นพาหนะสำหรับขนลำเลียงข้าวที่เก็บเกี่ยวในฤดูน้ำหลาก และใช้ในวิถีชีวิตอื่น ๆ ซึ่งเป็นพาหนะที่ใช้สืบทอดกันมา