ประชาสัมพันธ์

‘สสจ.นครพนม’ ขับเคลื่อน Quick Win เปิด ‘คลินิกส่งเสริมมีบุตร-ศูนย์ชีวาภิบาล’ รพร.ธาตุพนม

วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ Quick Win 100 วัน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม พร้อม ทพญ.วิภารัตน์ วรหาร ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เป็นประธานพิธีเปิดให้บริการคลินิกส่งเสริมการมีบุตร และจัดตั้งศูนย์ชีวาภิบาล โดยนายแพทย์มนู ชัยวงศ์โรจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ ให้การต้อนรับ กล่าวรายงานฯ

นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการดำเนินงาน ยกระดับ 30 บาท พลัส Quick Win 100 วัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค รวมถึงการดูแลรักษา ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพร่างกาย เพื่อบรรลุเป้าหมาย “ประชาชนคนไทยสุขภาพดี ประเทศไทยสุขภาพดี” ผ่าน 13 ประเด็น ซึ่งประเด็นที่ 8 คือ “สถานชีวาภิบาล” โดยมุ่งเน้นการจัดตั้ง “ศูนย์ชีวาภิบาล” ในโรงพยาบาล และประเด็นที่ 11 มุ่งเน้น จัดให้บริการคลินิก “การส่งเสริมการมีบุตร” เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันสังคมไทยกำลังก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุ มีอัตราการเกิดลดลง และยังพบปัญหาการเกิดที่ไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น ตลอดจนการเกิดในกลุ่มผู้มีความพร้อมที่อยากมีบุตร แต่ร่างกายไม่เอื้ออำนวย และไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการส่งเสริมการมีบุตร

กระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบาย โดยให้ทุกโรงพยาบาลเปิดให้บริการคลินิกส่งเสริมการมีบุตรขึ้น และประเด็นที่ 8 “สถานชีวาภิบาล” ซึ่งเป็นสถานที่ประสานและดูแลผู้ป่วย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยให้บริการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงติดบ้าน ติดเตียง และผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ต่อระบบบริการสุขภาพ และประชาชนอย่างสูงสุด

ทั้งนี้ สมาชิกสมาคมแม่บ้านสาธารณสุข สาขาจังหวัดนครพนม นำโดย ทพญ.วิภารัตน์ วรหาร ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้เยี่ยมพร้อมมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคให้ผู้ป่วยผู้สูงอายุที่ต้องดูแลระยะยาวแบบประคับประคอง (Palliative care) จำนวน 2 ท่าน ณ ชั้น 2 ตึกผู้ป่วยชาย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม

ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยที่ต้องดูแลระยะยาวแบบประคับประคองมีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งผู้สูงอายุที่มีอายุขัยที่มากขึ้น และถ้าไม่เน้นการส่งเสริมสุขภาวะที่ดี ในช่วงท้ายของชีวิตก็จกลายเป็นผู้ป่วยระยะยาวที่ต้องเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน ติดเตียง และกลายเป็นผู้ป่วยประคับประคอง (Palliative care) และต้องเสียชีวิตในเวลาต่อมา การมีศูนย์ชีวาภิบาลเกิดขึ้นในทุกโรงพยาบาล จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการจัดระบบการดูแลสนับสนุนทีมสหวิชาชีพ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อเชื่อมโยงการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและชุมชน รวมถึงขับเคลื่อนให้เกิดสถานชีวาภิบาลในชุมชนได้ จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อเนื่องไปจนถึงช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต