ข่าวเศรษฐกิจ ประชาสัมพันธ์

กรมวิชาการเกษตนำเทคโนโลยีปลูกพืชอินทรีย์ สร้างรายได้ตลอดปี 5 ไร่ เดือนละ 100,000 บาทจริง

การผลิตพืชอินทรีย์ด้วยเทคโนโนโลยี  โดยกรมวิชาการเกษตรฯ ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จ.ขอนแก่น เข้ามาส่งเสริมเกษตรกร ในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ ได้เรียนรู้และนำมาใช้จริงสามารถปลูกพืชอินทรีย์ได้ตลอดทั้งปีและมีรายได้เดือนละ 100,000 บาทจริง ด้วยพื้นที่เพียง 5 ไร่ เท่านั้น

ดร.นฤทัย  วรสถิตย์  ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  สำนักวิจัยและพัฒนาเกษตร เขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น  พร้อมคณะนักวิชัยและนักวิชาการ  ดูพื้นที่จริงสวนปันบุญ  ต.ฆ้องชัยพัฒนา  อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์  ของเกษตรกรนางสุจารี  ธนสิริธนากร  อายุ 53 ปี  ซึ่งได้นำเอาเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรมาใช้ในพื้นที่ปลูกผักอินทรีย์ เนื้อที่ 5 ไร่  จนประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลมากมาย และสามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี   เป็นต้นแบบเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

ดร.นฤทัย  วรสถิตย์  กล่าวว่า  มีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ 11 จังหวัดของภาคอีสาน จากข้อมูล ปี 2557 มีพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรได้รับมาตรฐานอินทรีย์เพียง 47 แปลง  ในขณะที่ภาครัฐทั้งระดับประเทศ และในจังหวัดหลายแห่งมีความต้องการให้เกิดการผลิตพืชเกษตรอินทรีย์มากขึ้น สอดคล้องกับภาวะความต้องการของตลาดซึ่งพืชอินทรีย์มีตลาดรองรับจำนวนมาก จึงได้ทำการวิจัยพร้อม ๆ กับลงพื้นที่ให้ความรู้จนได้พบว่า ปัจจัยด้านสภาพพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะดินที่เป็นดินร่วนปนทรายเป็นอุปสรรคสำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์ รวมถึงศัตรูพืช จึงจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยบำรุงดินที่มีความเหมาะสม

“การนำเอาเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรเข้ามาใช้ในดิน  โดยเลือกเอาสวนปันบุญนำร่องโดยการทดสอบให้เป็นเกษตรกรต้นแบบ  โดยชีวภัณฑ์ที่นำมาใช้ทั้งไส้เดือนฝอย  ไตรโคเดอร์ม่า  แหนแดง และการใช้ NPV ที่สามารถควบคุมศัตรูพืช และบำรุงดินได้ดี  จนได้รับรางวัลเกษตรอินทรีย์มีมาตรฐาน ออแกนิกส์ไทยแลนด์รับรอง  สามารถผลิตปุ๋ยและชีวภัณฑ์ใช้เองได้  และได้รับการส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านออแกนิกส์วิลเลจ ของพาณิชย์จังหวัด  และปัจจุบันได้ขยับจากการเป็นแปลงต้นแบบ สู่การเป็นศูนย์เรียนรู้ ที่เต็มไปด้วยความรู้ ในด้านเกษตรอินทรีย์คุณภาพ และสามารถแวะชมเที่ยวถ่ายภาพได้   ซึ่งจริง ๆ แล้วเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องยาก  สิ่งที่ตอบแทนคุ้มค่ามาก  เพราะมีความปลอดภัยทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค  ซึ่งกรมวิชาการเกษตร  สามารถให้คำปรึกษาได้ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ทั่วประเทศ เกษตรกรท่านใดสนใจสามารถสอบถามได้” ดร.นฤทัย กล่าว

นางสุจารี  ธนสิริธนากร  อายุ  53 ปี  เกษตรกรเจ้าของสวนปันบุญ  กล่าวว่า จากการปลูกผักอินทรีย์  มีลูกค้าเยอะมาก  จากเดิมที่มีความกังวลว่าเมื่อปลูกผักแล้วจะไปขายที่ไหน  จนกระทั่งได้มาตรฐานออแกนิกส์ไทยแลนด์ มีลูกค้าเข้ามาหาเยอะมาก  จนผลิตป้อนตลาดแทบไม่ทันทั้งท๊อป ซุปเปอร์มาเก็ต แมคโคร โลตัส และโรงพยาบาล สำหรับรายได้ โรงเรือนขนาด 6×24 เมตร  เดือนละ 30,000 บาท ปัจจุบันมี 4 โรงเรือน  โดยผักที่ปลูกจะเป็นผักสลัด ที่มีราคาสูงและปลูกได้ตลอดทั้งปี

“สวนปันบุญเป็นพื้นที่งานวิจัยการใช้ไส้เดือนฝอยชนิดผง  สารชีวภัณฑ์ BT ไตรโคเดอร์ม่า และปุ๋ยหมักเติมอากาศ  ทำให้สามารถปลูกผักได้จากที่แรก ๆ ไม่สามารถทำได้เลย มีปัญหาโรคและแมลงเยอะมาก  ซึ่งเมื่อได้ใช้แล้วทำให้สวนปันบุญผลิตผักออกสู่ตลาดได้อย่างคุณภาพ  สามารถรวมตัวกันในหมู่บ้านร่วมกันปลูกผักส่งตลาดและได้รับมาตรฐานออแกนิกส์ไทยแลนด์   สวพ.กาฬสินธุ์ลงมาช่วยสวนปันบุญมาโดยตลอด ซึ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี แบบ 100% ถ้าไม่มีกรมวิชาการเกษตรก็คงผลิตผักอินทรีย์ไม่ได้เลย  จากการทำเกษตรอินทรีย์ทำให้เกิดอาชีพใหม่ มีรายได้รายวัน รายเดือน และรายปี มีความมั่นคง แน่นอน และยั่งยืน  อยากให้เกษตรกรท่านอื่น ๆ หันมาทำเกษตรอินทรีย์  โดยมีพี่เลี้ยงโดยกรมวิชาการเกษตร  เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป” นางสุจารี กล่าว