ประชาสัมพันธ์

พช.นครพนม ประเมินความพร้อมการขับเคลื่อนกระบวนการห่วงโซ่การผลิตกล้วย “จากใบตองกล้วยธรรมดา สู่ มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ”

วันที่ 11 มกราคม 2567 ที่กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายผู้ปลูกกล้วยอำเภอเมืองนครพนม นายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห พัฒนาการจังหวัดนครพนม และนางวรนุช กรุงเกตุ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ลงพื้นที่ประเมินความพร้อม และเก็บข้อมูลการปลูกกล้วยตานีและกล้วยน้ำว้าของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วย แปลงนางใบสวน คำสี และนายรัตนชัย คำสี บ้านเลขที่ 6 ม.3 ต.บ้านกลาง อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม (ปลูกกล้วยตานี 4 ไร่ /เลี้ยงไก่ 1,400 ตัว)

โดยมีนายไวยวุฒิ คำเหลา ผู้ใหญ่บัาน ร่วมให้ข้อมูลเพื่อประเมิน ความพร้อมและใช้ข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจให้การสนับสนุนการใช้ประโยชน์ห่วงโซ่การปลูกกล้วยตานี “ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง โดยมีประเด็นในการแลกเปลี่ยนและนำเสนอข้อมูลสนับสนุนการขับเคลื่อน ตามแนวคิด ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ (ความต้องการซื้อ และความต้องการขาย) สาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้ การปลูกกล้วยของเกษตรกรส่วนใหญ่ เน้นพื้นที่ที่ใกล้แหล่งน้ำและมีแหล่งน้ำ เช่น สระน้ำ บ่อขุด เป็นต้น ที่สามารถนำน้ำมารดต้นกล้วยได้อย่างเพียงพอ ปริมาณการปลูกที่เกษตรกรสามารถดูแลรักษาได้ไม่เกิน 1 ไร่/ครัวเรือน เฉลี่ยไร่ละ 250 หน่อ เว้นแต่ผู้ที่มีความพร้อมจริงๆ สามารถเพิ่มพื้นที่ได้เกิน 1 ไร่ได้ (เช่น การทำแปลงใหญ่) การรีดใบตองกล้วย และเทคนิคการรีดใบตอง ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ รวมถึงปริมาณและมาตรฐานที่ต้องการของร้านกะละแมแต่ละร้านค้า เพิ่มประสิทธิภาพการปลูกและมาตรฐานใบตองรีด และแนวทางการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม (เตารีดใบตอง, เครื่องปั๊มใบตอง) ช่องทางการตลาดเชื่อมโยงเครือข่าย (กลุ่มผู้ปลูกกล้วยตานีใช้ใบ กลุ่มผู้รีดใบตอง กลุ่มร้านค้าจำหน่ายกะละแม) ข้อเสนอ ดังนี้ จัดทำแผนการขับเคลื่อนบูรณาการห่วงโซ่การผลิตกล้วย “จากใบตองกล้วยธรรมดา สู่ มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” ตั้งแต่การปลูกกล้วย/การดูแลรักษา/โรคภัยต่างๆและการจำหน่ายสู่ร้านค้าที่ใช้ประโยชน์ พิจารณากลุ่มเป้าหมายนำร่องใน 2 ลักษณะ คือ ในครัวเรือนของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของกรมการพัฒนาชุมชน เชื่อมโยงหมู่บ้านต้นเงิน ของมหาวิทยาลัยนครพนม ได้ทำวิจัยไว้แล้ว และพิจารณาปลูกในพื้นที่โคก หนอง นา โมเดล จัดหาแหล่งงบประมาณมาสนับสนุน การดำเนินโครงการ เช่น งบพัฒนาจังหวัด การระดมทุนจากกองทุนชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้านฯ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตฯ การจัดทำผ้าป่า เป็นต้น รวมถึงองค์กรการกุศลของจังหวัด เช่น มูลนิธิศรีโครตบูร ให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม จัดทำแนวทาง/จัดทำแผนงาน/โครงการให้พร้อมสำหรับเตรียมการขับเคลื่อนโครงการฯ

นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม วางแผนการขับเคลื่อนการปลูกกล้วยตานี นอกจากใช้ในธุรกิจกะละแมโบราณแล้ว ยังใช้ประโยชน์จากใบตองในธุรกิจต่างๆ เช่น แปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ในธุรกิจหมูยอ ธุรกิจแหนม การห่อข้าวต้มมัด การทำพานบายศรี ขันหมากเบ็ง เศียรพญานาค เพื่อบูชาองค์พระธาตุพนม และพระธาตุสำคัญประจำวันเกิด ทั้ง 7 พระธาตุในจังหวัดนครพนม รวมถึงการทำพานบายศรีบูชาพญาศรีสัตตนาคราช ให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดนครพนม ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ได้สักการะบูชาอีกด้วย