ประชาสัมพันธ์

ผู้ว่าฯ นครพนม Kick-Off ขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) บูรณาการทุกภาคส่วนขับเคลื่อนร่วมกับ อปท. เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี ชีวีตที่มีความสุขอย่างยั่งยืน

วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่วัดพระบาทเวินปลา (ธนาคารขยะองค์การบริหารส่วนตำบลเวินพระบาท) ตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทนจังหวัดนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางสงวน จันทร์พร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครพนม ดำเนินการ Kick-Off ขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในวันนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 103 แห่งของจังหวัดนครพนม ได้เริ่ม Kick-Off การขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ด้วยความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการจัดการขยะมูลฝอยโดยดำเนินการตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดให้มีระบบจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่น ๆ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะ ในการสนับสนุนให้ประชาชนได้มีการคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือน และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยภายใต้หลักการ 3ช (3Rs) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) พร้อมทั้งรณรงค์สร้างความรับรู้ความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนในทุกพื้นที่มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะและคัดแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลหรือไปขาย เพื่อให้มีรายได้สู่ชุมชน และพัฒนาสู่การจัดตั้งธนาคารขยะเพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและรับซื้อขยะรีไซเคิลจากประชาชน อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนและนำรายได้ไปจัดสวัสดิการสังคมในรูปแบบต่าง ๆ

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะในระดับพื้นที่ ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนในระดับจังหวัด โดยคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลมูลฝอยระดับจังหวัด ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีธนาคารขยะอย่างน้อยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละ 1 แห่ง ซึ่งจะต้องมีการประชุมซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ในระดับจังหวัด) ให้สอดคล้องกับคู่มือแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ท้องถิ่นจังหวัด ให้คำแนะนำและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งจัดตั้งธนาคารขยะ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับจากวันนี้ที่มีการ Kick-Off รวมทั้งมีการจัดทำพื้นที่ต้นแบบ (พี่เลี้ยง) ของธนาคารขยะ และขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัด โดยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งคณะกรรมการธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานธนาคารขยะประจำชุมชน/หมู่บ้าน พร้อมทั้งสนับสนุนผลักดันให้อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ทุกครัวเรือน เข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารขยะของชุมชน/หมู่บ้าน พร้อมทั้งรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในจังหวัดทราบถึงประโยชน์ของการคัดแยกขยะรีไซเคิล สร้างองค์ความรู้ในการดำเนินโครงการธนาคารขยะ ให้ทราบถึงผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการธนาคารขยะ ผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายศึกษาวิเคราะห์แนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามคู่มือแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด พร้อมทั้งติดตาม และรายงานผลการขับเคลื่อนโครงการให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุกเดือน 2) การขับเคลื่อนในระดับอำเภอ ให้คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยในระดับอำเภอ จัดประชุมซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะในระดับอำเภอ โดยนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ท้องถิ่นอำเภอ ให้คำแนะนำ สนับสนุน และร่วมดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง มีธนาคารขยะของชุมชน/หมู่บ้าน โดยใช้กลไกคณะกรรมการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยระดับอำเภอ สนับสนุนและผลักดันการดำเนินงานโดยใช้อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา ร่วมกันประสานงานและขับเคลื่อนธนาคารขยะในระดับชุมชน/หมู่บ้าน ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานธนาคารขยะประจำชุมชน/หมู่บ้าน ในการจัดทำข้อบังคับธนาคารขยะ ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานธนาคารขยะและการเปิดรับสมาชิก พร้อมทั้งการติดตามและรายงานผลการขับเคลื่อนนโยบาย รวบรวมปัญหา อุปสรรค ผลสัมฤทธิ์ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการขับเคลื่อนนโยบายฯ ให้จังหวัดทราบ และ 3) การขับเคลื่อนในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีการเตรียมความพร้อมสำรวจข้อมูลขยะมูลฝอยระดับครัวเรือน การจัดการขยะมูลฝอย ได้แก่ การคัดแยกขยะมูลฝอย การรีไซเคิลขยะในระดับครัวเรือน ผู้ประกอบการรับซื้อขยะรีไซเคิลในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูล มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นการดำเนินงานธนาคารขยะในชุมชน/หมู่บ้าน พร้อมทั้งจัดทำธรรมนูญชุมชน/หมู่บ้าน/ตำบล เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการคัดแยกขยะมูลฝอยครัวเรือน และจัดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงาน แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารธนาคารขยะ คณะกรรมการธนาคารขยะชุมชน/หมู่บ้าน และคณะทำงานธนาคารขยะชุมชน/หมู่บ้าน

ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจังหงัดนครพนมและสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม Change for Good ทำให้เกิดธนาคารขยะในทุกพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีเงินออม ลดปริมาณขยะในพื้นที่ชุมชน ลดปัญหาโลกร้อน สร้างการเรียนรู้การคัดแยกขยะ ปลุกจิตสำนึกที่ดีให้กับเยาวชน นำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน