ประชาสัมพันธ์

กรมการพัฒนาชุมชน เดินหน้าโคกหนองนาแก้ปัญหาภัยแล้งยั่งยืนกำชับยึดระเบียบโปร่งใส

ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 12  กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมกำชับให้ดำเนินงานยึดระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้ ขณะที่เกษตรกรขานรับร่วมโครงการกว่า 2,400 แปลง เชื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและความยากจนได้อย่างยั่งยืน

https://www.youtube.com/watch?v=-sZ7A9jniRY

ที่แปลงนานางนิตยา ภูชมศรี อายุ 61 ปี เลขที่ 104 เกษตรกรบ้านโนนสูง หมู่ 8 ต.โนนสูง อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 12  กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมกำชับให้ดำเนินงานยึดระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยมีนายอุทัย  สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นายชัชชัย  กลีบมะลิ ผอ.กลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ นางพรหมภัสสร  ภูมิสวัสดิ์ ผอ.กลุ่มงานประสานและสนับสนุนฯ นายสุนทร พหลทัพ พัฒนาการ อ.ยางตลาด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้อนรับและรายงานความคืบหน้า

นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า  จ.กาฬสินธุ์ ได้รับงบประมาณดำเนินการ ในโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โดย 18 อำเภอ เกษตรกรสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการในเฟสแรกจำนวน 2,446 แปลง ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินการที่ผ่านมาได้เริ่มตั้งแต่กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้น การพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งได้ดำเนินการฝึกอบรมแล้วเสร็จไปแล้ว 29 รุ่น จาก 30 รุ่น และจะแล้วเสร็จรุ่นสุดท้ายในวันที่ 23 มีนาคม 2564

นายอุทัย กล่าวอีกว่า ในส่วนกิจกรรมที่ 2 ได้สร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (CLM) จำนวน 43 แห่ง และพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (HLM) จำนวน 2,403 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำสัญญาจ้าง ดำเนินการขุดบางส่วน เช่น พื้นที่ อ.ยางตลาด 3 แห่ง อ.สมเด็จ 3 แห่ง และ อ.ท่าคันโท 1 แห่ง และจะเดินหนาทำการขุดให้แล้วเสร็จในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ได้กำชับให้พัฒนาการอำเภอทุกอำเภอ ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับสูงสุด

ด้านนางนิตยา ภูชมศรี อายุ 61 ปี เลขที่ 104 เกษตรกรบ้านโนนสูง กล่าวว่า เดิมพื้นที่ที่ดำเนินการโคกหนองนาโมเดล จำนวน 1 ไร่ดังกล่าว เป็นพื้นที่นาข้าว ซึ่งอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก แต่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงและภัยแล้งซ้ำซาก ทำการเกษตรไม่ได้ผล ทำให้เสียโอกาสในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชน อ.ยางตลาด และสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ดังกล่าว

นางนิตยา กล่าวอีกกว่า จากการได้เข้าร่วมโครงการและเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับขั้นตอน วิธีการบริหารจัดการ ตลอดทั้งได้ไปศึกษาดูงานตามแปลงเกษตรที่ประสบผลสำเร็จหลายแห่ง เพื่อนำองค์ความรู้มาปรับใช้ที่แปลงของตนเอง  โดยมีการขุดบ่อเลี้ยงปลา มีคลองไส้ไก่ เพื่อกระจายน้ำให้ทั่วแปลง มีการปลูกไม้ผล พืชผักสวนครัว เพื่อรับประทานในครัวเรือนและจำหน่ายในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าจะสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ สามารถแก้ไขปัญหาว่างงานและความยากจนได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณรัฐบาลและกรมการพัฒนาชุมชน ที่จัดโครงการดีๆอย่างนี้มาสู่ชุมชน