ประชาสัมพันธ์

ศรีสะเกษ พ่อเมืองปลื้มด่านชุมชนปากหวาน ขับเคลื่อนวาระ “365 วัน ศรีสะเกษปลอดภัย”ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมโรงแรมศรีลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสรุปและถอดบทเรียนผลการดำเนินงานด่านชุมชนปากหวาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยมีแกนนำคณะทำงานด่านชุมชนปากหวาน ผู้รับผิดชอบงานอุบัติเหตุทางถนน ผู้รับผิดชอบงานข้อมูลสารสนเทศ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาล พี่เลี้ยง สอจร.จังหวัด และภาคีเครือข่ายที่ เข้าร่วมการประชุม

นางเปรมปรีดิ์ ชวนะนรเศรษฐ์ หัวหน้า สอจร.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กล่าวว่า ด่านชุมชนบังคับใช้กฎหมายเชิงบวก หรือ “ด่านปากหวาน” เป็นเครื่องมือการเตือนเชิงบวก (Behavior-Based Safety : BBs) ที่นำมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือสร้างพฤติกรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยใช้วิธีการสื่อสารการพูดและการเตือนด้วยความห่วงใย เหมาะกับชุมชน-ท้องถิ่น ในการนำไปประยุกต์ใช้กับด่านชุมชน เพื่อตักเตือนผู้ขับขี่รถผ่านไปมาให้มีพฤติกรรมการสวมหมวกเพิ่มขึ้น จุดเด่น คือช่วยลดแรงต้าน หรือความเสี่ยงทางสังคมจากคนในชุมชน จนปรากฎผลในการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยและลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะได้นำข้อเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติมาสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนเป็นองค์ความรู้เพื่อขยายผลสู่การดำเนินงานในระดับต่างๆ ต่อไป

ด้านนายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ด่านชุมชนปากหวาน เป็นเครื่องมือการเตือนเชิงบวก ที่นำมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือสร้างพฤติกรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยใช้วิธีการสื่อสารการพูด และการเตือนด้วยความห่วงใย เหมาะกับชุมชนท้องถิ่นในการนำไปประยุกต์ใช้กับด่านชุมชน หากทำอย่างต่อเนื่องจะกลายเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ซึ่งสอดคล้องกับวาระจังหวัดศรีสะเกษ “365 วัน ศรีสะเกษปลอดภัย” ที่พยายามสรรหากลยุทธ์อันหลากหลาย เพื่อทำให้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดศรีสะเกษลดลง

นายอนุพงศ์ กล่าวต่อว่า โดยด่านชุมชนปากหวาน ได้นำร่องใช้ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลกุดเสลา อำเภอกันทรลักษ์ จนปรากฎผลเป็นรูปธรรม ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น แม้แต่รายเดียว และมีอัตราการสวมหมวกนิรภัยจากกระบวนงานของด่านปากหวาน ทำให้จังหวัดเล็งเห็นความสำคัญ และกำหนดเป็นนโยบายให้มีการจัดตั้งด่านชุมชนปากหวานครอบคลุมทั้งจังหวัด ใน 22 อำเภอ จำนวน 206 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น