ประชาสัมพันธ์

กรมชลฯ จับมือ จ.ขอนแก่น เปิดเวทีรับฟังความเห็นการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ)โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ โรงแรมเดอะคอนวีเนี่ยน ขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดการประชุมรับพีงความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ซี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ)โดยมีนายนิพนธ์ สนั่นเรืองศักดิ์ ผอ.ส่วนส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ พร้อมด้วยผู้แทนกรมชลประทาน มูลนิน้ำและคุณภาพชีวิต มูลนิน้ำเพื่ออีสาน คณะกรรมการลุ่มน้ำซี ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ พี่น้องประชาชนร่วมประชุม

นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ทางกรมชลประทานได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำพร้อมระบบชลประทาน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ ภัยแล้งซ้ำซาก ขาดแหล่งเก็บกักน้ำ และขาดระบบชลประทานทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะด้านการเกษตร การอุปโภค-บริโภคและอื่นๆการมีความพร้อมด้านแหล่งน้ำจะทำให้พื้นที่ภาคอีสานสามารถรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่

“ความเป็นมาของโครงการเนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 103.5 ล้านไร่ มีพื้นที่การเกษตร 63.85 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรชลประทานเพียง 8.69 ล้านไร่ พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ยังอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ประชาชนประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและปัญหาขาดแคลนน้ำอันเกิดจากฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนและการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง แหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนมีน้อย เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ราบสูงและมีลักษณะแบนราบ การนำน้ำมาใช้ส่วนใหญ่ต้องใช้การสูบน้ำจากแม่น้ำลำคลองเป็นหลัก ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดหาน้ำต้นทุนเพิ่มให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาโดยตลอด แต่เป็นวิธีการผันน้ำโขงเข้ามาโดยใช้วิธีการสูบน้ำ ซึ่งต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ เป็นจำนวนมากในแต่ละปี จนถึงในปี 2548 มูลนิธิน้ำเพื่อคุณภาพชีวิต ได้เสนอแนวคิดในการผันน้ำโขงเข้ามาใช้ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยแรงโน้มถ่วง ต่อมากรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาต่อยอดแนวคิดของมูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิตมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง”

นายนิพนธ์ สนั่นเรืองศักดิ์ ผอ.ส่วนส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ กล่าวว่า การประชุมร่วมกันของทุกภาคส่วน ในเรื่องโครงการฯ การบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 ระบบส่งน้ำ ถือเป็นการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของโครงการฯ เพื่อผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานในภาพรวม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อสังเกต และใช้โอกาสนี้ ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นข้อซักถาม หรือข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ ฯ อย่างเต็มที่ เพื่อให้คณะทำงานของกรมชลประทานและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา นำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาโครงการและเป็นแนวทางปฏิบัติงานของโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช. )ได้ดำเนินการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมการดำเนินการโครงการ ระยะที่ 1 บริเวณพื้นที่หัวงานแนวผันน้ำ มีการปรับแนวหัวงานแนวผันน้ำตามสภาพการใช้ที่ดิน เสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 โดยการพัฒนาระยะที่ 1 ซึ่งสามารถ เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 1.73 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ประสบปัญหาแล้งซ้ำซาก เพื่อให้การพัฒนาโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะที่ 1 สามารถดำเนินการต่อไปได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้