ประชาสัมพันธ์

ขอนแก่น กระทรวงมหาดไทย สนองแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เดินหน้าโค้ชชิ่ง “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” พัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หวังสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ในถ้องถิ่นในทุกภูมิภาค ผลักดันภูมิปัญญา “ผ้าไทยและงานหัตถกรรม” ขึ้นแท่น Soft Power ประเทศไทย นำสู่สากล

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 25 พ.ค.2567 ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและงานหัตถกรรม กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม จุดดำเนินการที่ 4 จังหวัดขอนแก่น โดยมี อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดขอนแก่น รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ แขกผู้มีเกียรติ และผู้เข้าร่วมอบรม ร่วมงานจำนวนมากนายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมพัฒนาชุมชน รับหน้าที่สำคัญจากกระทรวงมหาดไทย สานต่อพระราชปณิธานอันแน่วแน่ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ซึ่งเป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทาน เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว, ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา, ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ประเภทนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์

“โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและหัตถกรรม เป็นการสืบสาน ต่อยอดงานผ้าไทยและงานหัตถกรรม มีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาศักยภาพ องค์ความรู้ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรม ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดน่าน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดขอนแก่น โดยจังหวัดขอนแก่น เป็นจุดดำเนินการที่ 4 ครอบคลุมพื้นที่ใน 20 จังหวัด ภาคตะวันออกฉียงเหนือซึ่งภายในงาน จะได้รับความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและงานหัตถกรรม ประกอบไปด้วยนักออกแบบเครื่องแต่งกายที่มีชื่อเสียง อาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง”

นายสยาม ศิริมงคล กล่าวอีกว่า การพัฒนาศักยภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และการยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ประจำปี 2567 จะทำให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ด้านผ้าไทย ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรม ได้รู้จักการออกแบบลวดลายที่ทันสมัย ถูกใจคนทุกเพศทุกวัย สามารถสวมใส่ในทุกโอกาสได้อย่างเหมาะสม เป็นการนำภูมิปัญญามาพัฒนาให้เกิดผลงานอันทรงคุณค่า และเป็นที่ต้องการของตลาดได้มากยิ่งขึ้น มุ่งมั่นและน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อผลิตสร้างสรรค์ผลงานผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน และสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ต่อไป