ประชาสัมพันธ์

เกษตรจังหวัดนครพนม จับมือสถิติจังหวัดนครพนม ร่วมขับเคลื่อนโครงการสำรวจสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 ทั่วจังหวัด เทรนด์ความรู้อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์สารสนเทศยางพารานครพนม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองนครพนม และสำนักงานสถิติจังหวัดนครพนม ร่วมกันจัดอบรมให้ความรู้อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ในการขับเคลื่อนโครงการสำรวจสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 ทั่วจังหวัดนครพนม ซึ่งจะดำเนินการเก็บข้อมูลในช่วงเดือนพฤษภาคม –มิถุนายน 2566 นี้

นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม กล่าวว่า จากการที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อปฏิบัติงานร่วมกับอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติในส่วนภูมิภาค โดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในพื้นที่ และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) จะทำหน้าที่เป็นพนักงานแจงนับ เพื่อจะดำเนินการจัดทำสำมะโนการเกษตร พ.ศ.2566 ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2566 กิจกรรมในวันนี้จะเป็นการชี้แจงและทำความเข้าใจให้กับอาสาสมัคร โดยเน้นการถ่ายทอดความรู้ เทคนิค และวิธีการที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลสำมะโนการเกษตรภาคสนาม เพื่อให้นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรและอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติจังหวัดได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอน เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ข้อมูลที่เป็นเอกภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน

สำหรับประเทศไทยได้ดำเนินการจัดทำสำมะโนประชากรเกษตร ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2493 โดยในครั้งนี้จะเป็นการดำเนินการครั้งที่ 7 ตามข้อเสนอแนะขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ให้ทุกประเทศจัดทำสำมะโนการเกษตรทุก 10 ปี เป็นอย่างน้อย เพื่อให้ประเทศมีข้อมูลด้านสถิติการเกษตรที่สำคัญ มีความจำเป็นและเพียงพอสำหรับใช้เป็นข้อมูลในการติดตาม เฝ้าระวัง และวางแผนพัฒนาการเกษตรและประชากรในภาคการเกษตรของประเทศได้อย่างเหมาะสม จึงได้มีการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อให้สามารถลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลด้านเกษตรได้อย่างทั่วถึง ได้รับข้อมูลที่มีความถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งเสริม พัฒนา และขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศต่อไปในอนาคต

วัตถุประสงค์ในการเก็บข้อมูล เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร ได้แก่จำนวนผู้ถือครอง และเนื้อที่ถือครองทำการเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด การทำนาเกลือสมุทร การใช้ประโยชน์ในที่ถือครอง การถือครองที่ดินเนื้อที่เพาะปลูกพืช เนื้อที่ทำนาเกลือสมุทร และเนื้อที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืดจำนวนการเลี้ยงปศุสัตว์ การใช้ปุ๋ย การใช้เครื่องจักรเครื่องมือเพื่อการเกษตร และกําลังแรงงานที่ใช้ในการเกษตร เป็นต้น เพื่อให้มีข้อมูลดังกล่าวในระดับพื้นที่ย่อย (ระดับหมู่บ้าน) สำหรับใช้ประกอบการวางแผนพัฒนาในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นต่อไป เพื่อนําข้อมูลที่ได้มาใช้เป็นกรอบในการเลือกตัวอย่าง สำหรับการสํารวจในรายละเอียดเกี่ยวกับการเกษตร การทำประมงทะเล และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา