ประชาสัมพันธ์

สภาพลเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดตัวสภาพลเมืองพร้อมเดินหน้าแก้ไขปัญหาสังคม

สภาพลเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ ประสานพลังเดินหน้าปฏิรูปท้องถิ่นภาคพลเมือง เพิ่มอำนาจประชาชนให้มีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น

 ที่ห้องประชุมตึกอำนวยการ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (พื้นที่นามน) ดร.กิตติพร อินทะสีดา ประธานสภาพลเมือง จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดตัวและแถลงข่าวภารกิจสภาพลเมือง จ.กาฬสินธุ์ และเวทีเสวนามุมมองนักวิชาการต่อสภาพลเมือง โดยมี ดร.สมัคร เยาวกรณ์ และ ผอ.พิสิฐพงศ์ แจ่มใส เป็นพิธีกร มีคณะกรรมการและสมาชิกสภาพลเมือง จ.กาฬสินธุ์ ใน จ.กาฬสินธุ์ ทั้ง 18 อำเภอ ร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ดร.กิตติพร อินทะสีดา กล่าวว่า สภาพลเมือง จ.กาฬสินธุ์ เกิดจากคณะบุคคล จิตอาสา แกนนำผู้ริเริ่ม ร่วมเสวนาสภากาแฟ เกี่ยวกับปัญหาที่พบในท้องถิ่น พบว่ามีปัญหาขาดหลักธรรมาภิบาลในการพัฒนา จากนั้นจึงได้ขยายวงสภากาแฟกว้างขึ้น มีตัวแทนจากอำเภอต่างๆเข้าร่วมสนทนา ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งเป็นองค์กรสภาพลเมือง จ.กาฬสินธุ์ ตามมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยมีการจัดทำปฏิญญาดงโต่งโต้น เป็นกติกาข้อตกลงร่วมกัน

ดร.กิตติพรกล่าวอีกว่า สำหรับปฏิญญาดงโต่งโต้นนั้น กำหนดให้มีสภาพลเมืองท้องถิ่นกาฬสินธุ์ 4 ประเภทคือสภาพลเมือง จ.กาฬสินธุ์ (สพจ.), สภาพลเมืองเทศบาลเมือง (สพ.ทม.), สภาพลเมืองเทศบาลตำบล (สพ.ทต.) และสภาพลเมือง อบต. (สพ.อบต.) ทั้งนี้ สภาพลเมืองท้องถิ่นมีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปท้องถิ่นโดยภาคพลเมือง เพิ่มอำนาจประชาชนให้มีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น

ดร.กิตติพรกล่าวเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์การก่อตั้งสภาพลเมือง ประกอบด้วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข, เป็นที่ประชุมให้พลเมืองท้องถิ่น ได้เสนอปัญหาและแก้ปัญหาร่วมกัน, เป็นเครือข่ายของวิทยาลัยกาฬสินธุ์และสถานศึกษาอื่น เพื่อการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ข้อเสนอแนะและทิศทางการทำงานแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.), เพิ่มอำนาจประชาชนในการกำกับติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทน (สท., สจ.,ส.อบต.) และผู้บริหารท้องถิ่น ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง และประสาน ดำเนินการ เสนอข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติต่อสภาท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น

“ในส่วนบทบาทหน้าที่สภาพลเมืองจ.กาฬสินธุ์ คือจัดประชุมคณะกรรมการสภาท้องถิ่นของตนเอง, จัดเวทีประชุมสมาชิกสภาพลเมืองในเขตพื้นที่ของตน, จัดเวทีลงประชามติ กรณีมีปัญหาขัดแย้งในท้องถิ่น ให้ข้อเสนอแนะ และทิศทางการทำงานแก่ อปท., มีส่วนร่วมในการกำกับ ติดตาม ในการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทน (สท.สจ.ส.อบต.) และผู้บริหารท้องถิ่น, ติดตามสอดส่อง โครงการและงบประมาณจากส่วนกลางที่มาลงในท้องถิ่น ป้องกันการทุจริตร่วมกับรัฐบาลกลาง” ดร.กิตติพรกล่าว

ดร.กิตติพรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมบริหารงบประมาณ อบจ.ที่มาลงพื้นที่, ประสาน ส่งเสริมการใช้ Digital Technology แก่ประชาชน ในการมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่น, ประสาน ดำเนินการ เสนอข้อบัญญัติ หรือเทศบัญญัติต่อสภาท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น, จัดหารายได้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของสภาพลเมืองท้องถิ่นของตนเอง โดยหลังจากมีการก่อตั้งและเปิดตัวสภาพลเมือง จ.กาฬสินธุ์ พบว่าประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ทั้ง 18 อำเภอ ให้ความสนใจ สมัครเป็นสมาชิก อยากเข้ามาเป็นเครือข่ายและมีส่วนร่วมเป็นจำนวนมาก