ประชาสัมพันธ์

เกษตรนครพนม เร่งสำรวจความเสียหาย พร้อมเตือนเกษตรกรรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เฝ้าระวังและป้องกันความเสียหายในพื้นที่การเกษตร

วันที่ 10 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มีประกาศเตือนให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 12 – 18 สิงหาคม 2566 ที่พบว่าร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกที่เพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ อาจทำให้ในหลายพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม และพื้นที่การเกษตรและชุมชนเมืองอาจเกิดน้ำท่วมขังและระบายน้ำไม่ทัน

นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปริมาณฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ในหลายวันที่ผ่านมา ทำให้ในพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรในหลายพื้นที่อำเภอได้รับผลกระทบ ซึ่งปัจจุบันจากข้อมูลการสำรวจความเสียหายเบื้องต้น ด้านพืช แบ่งเป็น 3 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าว พื้นที่ประสบภัย จำนวน 55,821 ไร่ คาดว่าเสียหาย จำนวน 22,960 ไร่ ยาพารา พื้นที่ประสบภัย จำนวน 15 ไร่ คาดว่าเสียหาย จำนวน 15 ไร่ และปาล์มน้ำมัน พื้นที่ประสบภัย จำนวน 40 ไร่ รวมมีพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัย จำนวน 55,876 ไร่ และคาดว่าได้รับความเสียหาย จำนวน 22,975 ไร่ (ข้อมูล : สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม/10 ส.ค.66) ซึ่งทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ก็ได้เร่งสั่งการให้ทางสำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 12 อำเภอ จัดชุดเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วนร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบและความเสียหาย พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจและช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ และมีการจัดประชุมออนไลน์เพื่อซักซ้อมและทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ในการเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ด้านการเกษตรตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 คือ เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละ ไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท ซึ่งในขณะนี้อยู่หว่างการดำเนินการสำรวจความเสียหายในพื้นที่ โดยทางเจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการในพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่

สำหรับการเตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก “ช่วง 12 – 18 ส.ค. 66” นี้ เกษตรกรต้องเตรียมพร้อมและดูแลพืชเพื่อป้องกันการเกิดความเสียหาย ซึ่งก่อนเกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก ในส่วนของสวนไม้ผล ไม้ยืนต้น จะต้องตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบหรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลม สำหรับต้นไม้ผลที่อายุมากและมี ลำต้นสูง อาจตัดทอนส่วนยอดให้ต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มง่ายเมื่อถูกลมพายุพัดแรง ขณะเดียวกันควรใช้เชือกโยงกิ่งและต้น เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก รวมทั้งใช้ไม้ค้ำกิ่งและค้ำต้นเพื่อช่วยพยุงไม่ให้โค่นลงได้ง่าย รวมทั้งการทำเนินดินเพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณโคน และทำระบบระบายน้ำ และควรเก็บผลผลิตที่แก่ออกไปบ่มหรือจำหน่ายก่อน เพื่อลดความเสียหายและลดน้ำหนักบนกิ่งและต้นลง สำหรับพืชอื่นๆ ให้ป้องกันน้ำท่วมสวนโดยเสริมคันดินรอบนอกให้แข็งแรงและเตรียมการสูบน้ำออก รวมทั้งเก็บเกี่ยวผลผลิต อย่าให้มีผลอยู่ติดกับต้น และตัดแต่งกิ่งให้เหลือใบน้อยลง

การดูแลพืชหลังน้ำลด เมื่อระดับน้ำลดแล้วแต่ดินยังเปียกหรือหมาดอยู่ ห้ามเดินย่ำผิวดินโดยเด็ดขาด เนื่องจากดินรอบ ระบบรากยังอิ่มตัวด้วยน้ำระบบรากของต้นไม้ซึ่งได้รับความบอบช้ำมาก่อนแล้วจะได้รับความกระทบกระเทือน มากขึ้นและต้นตายได้โดยง่าย ควรปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน ให้หน้าดินแห้งก่อน ในระยะนี้อาจหาวิธีเติมอากาศลงสู่ดิน ก็จะช่วยเร่งให้ต้นไม้ผลพื้นตัวเร็วขึ้น และยังเป็น การช่วยไล่ น้ำที่ยังคงค้างอยู่ในดินให้ระบายออกไปเร็วมากขึ้น และเมื่อดินแห้งเอาดินหรือทรายออกจากโคนต้นพืช ตัดแต่งกิ่งปลิดผล เพื่อลดการคายน้ำของพืชและ เร่งให้พืชแตกใบใหม่เร็วขึ้น

พรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ทำให้รากพืชแตกใหม่ได้ดีขึ้น หากพบว่ามี การผลิใบอ่อนขึ้นมาใหม่และสามารถอยู่จนกระทั่งใบเพสลาด แสดงผลว่า ระบบรากสามารถทำงานได้ตามปกติ ในพืชที่ที่มีปัญหาของโรครากเน่า และโคนเน่า ที่เกิดจากเชื้อรา หลังจากน้ำลดแล้วหากพืชยังมีชีวิตอยู่ ให้ราดโคนต้นพืช หรือทาด้วยสารเคมีกันรา เช่น เมตาแลคซิล หรือ ฟอสเอทิล-อลูมินั่ม (อาลิเอท) (กรณีเกิดแผลที่ โคนต้นพืชจะถากเนื้อเยื่อพืชที่เสียออกแล้วทาด้วยสารเคมี) โดยสารเคมีดังกล่าวจะใช้กับอาการรากเน่า และโคน เน่าที่เกิดจากเชื้อราพิเที่ยม (Pythium spp.) หรือไฟทอปธอรา (Phytophthora spp.) สำหรับโรครากเน่าและ โคนเน่าที่เกิดจากเชื้อราชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อราฟิวซาเรี่ยม (Fusarium spp.) ไรซ็อกโทเนีย (Rhizoctonia spp.) หรือสเคลอโรเที่ยม(Sclerotium spp.) ให้ราดโคนต้นด้วยสารเคมีพีซีเอ็นบี หรือ เทอร์ราคลอร์ นอกจากนี้อาจมี การปรับปรุงสภาพของดินไม่ให้เหมาะสมต่อการเกิดโรค โดยการโรยปูนขาวหรือโดโลไมท์ เพื่อให้ดินมีสภาพเป็น ด่างเพียงเล็กน้อย

กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) อาจทำให้สถานการณ์น้ำอาจเพิ่มขึ้นจาก การเกิดท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก “ในช่วง 12 – 18 ส.ค. 66” นี้ ซึ่งพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่จะต้องเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือและป้องกันความเสียหายในพื้นที่การเกษตรที่อาจจะเกิดขึ้น หากพี่น้องเกษตรกรได้รับผลกระทบและผลผลิตเกิดความเสียหาย เพื่อเป็นการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีให้ท่านรีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านทันที