ประชาสัมพันธ์

ขอนแก่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับแบงก์ชาติ ภาคอีสาน จัดกิจกรรม “รู้ทันปากท้องออนทัวร์ ขอนแก่น” พากูรูรู้ทันปากท้องพบชาวขอนแก่น ตอบทุกปัญหาทางการเงิน เผยตั้งแต่ มี.ค.65 ถึง มิ.ย.66 มีผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์เข้าแจ้งความกว่า 23,500 ครั้ง มูลค่าความเสียหายสูงที่สุด รวมกว่า 11,500 ล้านบาท

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 สิงหาคม 2566 ที่ห้องประชุมปัญญาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นางสาวนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดกิจกรรม “รู้ทันปากท้องออนทัวร์ ขอนแก่น” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือกันระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการเปิดงาน ซึ่งได้มีการเชิญกูรูรู้ทันปากท้องตัวจริง กูรูปลดหนี้ คือ นายสาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP® มาบรรยายและตอบทุกปัญหาทางการเงิน เพื่อให้ทุกคนปลดหนี้ มีออม และรู้ทันมิจฉาชีพหลอกลงทุน พร้อมกิจกรรมให้ความรู้ ชี้ช่องทางแก้หนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสาวนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ “รู้ทันปากท้องกับตลาดหลักทรัพย์” เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้ริเริ่มโครงการดังกล่าว โดยมีกูรูมาแนะนำเทคนิคในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ในรูปแบบคลิปวิดีโอที่เข้าใจง่าย โดยหวังให้เป็นประโยชน์ต่อการนำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการให้ความรู้ด้านการเงิน เทคนิคการปลดหนี้ มีออม หนทางสร้างรายได้ พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันภัยการเงิน-การลงทุน แก่ประชาชนในภูมิภาค ใน 3 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2566

นางสาวนพเก้า ยังเปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาการหลอกลงทุน ที่เป็นคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 108,383 ครั้ง 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 38,669 ครั้ง 3.หลอกให้กู้เงิน 35,121 ครั้ง 4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 23,545 ครั้ง 5. ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) 21,482 ครั้งโดยเฉพาะคดี “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวตอร์” มีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด รวมกว่า 11,500 ล้านบาท โดยสิ่งที่มิจฉาชีพนำมาใช้เป็นเหยื่อล้อให้คนลงเชื่อมีหลายประการ เช่น ผลตอบแทนที่เกินจริง หรือให้ผลตอบแทนมากจนเราสนใจ ประการต่อมาคือ ระยะเวลาในการได้รับผลตอบแทนที่ลงทุนเร็วได้กำไรเร็ว ซึ่งประชาชนในยุคข้าวยากมากแพงที่กำลังเดือดร้อนเรื่องของเงินใช้จ่าย มักจะตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากในการลงทุน เหล่านี้เป็นสิ่งที่มิจฉาชีพใช้เป็นสิ่งล่อใจให้คนลงเชื่อ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการได้มาของผลตอบแทนที่ง่ายและเร็วเป็นเรื่องที่ยากมาก

ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนต้องพบเจอ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ตนเองก่อนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเวลาที่มิจฉาชีพจะมาล้วงเงินจากกระเป๋าเราไปได้หรือไม่นั้น ขั้นแรกคือการตัดสินใจของเราว่าเราจะให้เงินเขาไปหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พยายามจับมือกับพันธมิตรในการรณรงค์เรื่องจับปลอมหลอกลงทุน โดยใช้คำว่า “สติ” ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง คือ พิจารณาดูว่า สิ่งที่เราเห็นมันเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ต่อมาคือ ต้องสืบสวนให้ทราบว่า สิ่งที่เราเห็นนั้นมีความน่าเชื่อถือ เป็นของจริงหรือไม่ ซึ่งประชาชนสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ ก่อนทำการโอนเงิน ต้องพิจารณาให้ดี อย่าโอนไว เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ ซึ่งในปัจจุบันมิจฉาชีพได้ใช้ทุกช่องทางออนไลน์ในการก่อเหตุ