ข่าวสังคม

ขอนแก่น ชาวบ้านสมาชิกพันธุ์ไม้และร้านค้าตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่นวอนนายกฯ “เศรษฐา”ช่วย หลัง ธกส.ลอยแพและยื่นฟ้องชาวบ้านทั้ง 41 ราย

เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 27 กันยายน 2566 ที่หน้ารูปพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น สมาชิกพันธุ์ไม้และร้านค้าตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่น พร้อมบุตรหลาน ถือป้ายวอนนายกฯ เศรษฐา ช่วยด้วย ถูกไล่ที่ทำกินเลี้ยงชีพ และโดยมีป้ายเขียนขอให้ ท่านนายกและท่านผู้ว่าช่วยเราด้วย ถูกตัดน้ำตัดไฟ เราลูกค้า ธกส. และป้าย ธกส.ตลาดกลางขอนแก่น รังแก่ลูกค้า

จากนั้นทั้งหมดได้เดินทางไปที่ห้องประชุมแก่นภูมิ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการประชุม โดยมีนายโสรัต โสพรรณรัตน์ รองผู้จัดการ ธกส. และ นางวิไลรัตน์ อักษรพันธุ์ ผู้ตรวจราชการกรมธนารักษ์ ร่วมประชุม เพื่อสรุปปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการที่สมาชิกพันธุ์ไม้และร้านค้าตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่น จำนวน 41 ราย ที่ได้รับความเดือดร้อยจากการที่ ธกส.ตัดน้ำ ตัดไฟ และไล่ให้สมาชิกออกจากพื้นที่

นายโสรัต โสพรรณรัตน์ รองผู้จัดการ ธกส. กล่าวต่อที่ประชุมว่า จะไม่รื้อฟื้นเรื่องเก่าขึ้นมา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านทั้งหมดนั้น เกิดจากการกระทำที่ทำไม่ถูกต้อง และชาวบ้านก็ทำผิดข้อตกลงกับ ธกส.เมื่อทำผิดข้อตกลง ชาวบ้านก็ต้องย้ายออก เมื่อชาวบ้านไม่ยอมย้ายออก ธกส.ก็จะเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมาย จึงจำเป็นต้องยื่นฟ้องสมาชิกฯทั้ง 41 ราย ฉะนั้น ทั้งหมดก็ต้องไปว่ากันในชั้นศาลเท่านั้น

ในขณะที่นางวิไลรัตน์ อักษรพันธุ์ ผู้ตรวจราชการกรมธนารักษ์ กล่าววว่า ที่ดินในจุดที่ชาวบ้านเปิดร้านขายต้นไม้ หรือขายอาหารนั้น เป็นที่ดินที่ได้รับการบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา บริจาคให้กรมธนารักษ์ และธกส.ได้ขอเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ เพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่ตลาดกลางสินค้าการเกษตร ซึ่งพบว่า ชาวบ้านก็ค้าขายในจุดดังกล่าวมานานหลายสิบปี แต่เป็นการใช้พื้นที่ ที่ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของผู้บริจาคที่ดินให้ กรมธนารักษ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องเอาที่ดินคืนมา โดยกรมธนารักษ์ได้เรียกเอาที่ดินคืนจาก ธกส. และธกส.ก็เรียกเอาที่ดินคืนจากสมาชิกดังกล่าว ส่วนการฟ้องร้องชาวบ้านนั้น เป็นการฟ้องร้องของ ธกส.ยื่นฟ้องชาวบ้าน ทุกอย่างจึงดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมาย

ขณะที่นางทราทิพย์ ลิมปิพัฒน์ อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 31 ม.11 ต. ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายอาหารตามสั่ง เป็นหนึ่งในสมาชิก ร้านค้าในพื้นที่ร้านค้าตลาดกลางสินค้าเกษตร กล่าวว่า การรวมตัวเดินทางมาพบผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในครั้งนี้เนื้องจากชาวบ้าน ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของ ธกส.และกรมธนารักษ์ เพราะการที่ชาวบ้านขายต้นไม้และขายอาหารในพื้นที่รวม 41 รายนั้น ทุกรายทำตามที่ตกลงกันกับ ธกส.มาตลอด จนกระทั่งถูกไล่ที่ ถูกตัดน้ำตัดไฟ ไม่สามารถค้าขายต้นไม้ ค้าขายอาหารได้ แต่ทุกคนเป็นลูกค้าของธกส.ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ธกส.

“เมื่อถูกไล่ที่ ทุกคนจึงรวมตัวร้องขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้รับความเห็นใจ สุดท้ายจึงขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น โดยได้ยื่นข้อเสนอขอความเห็นใจกับ ธกส.ว่าขอเวลาในการขนย้ายและขายสิ้นค้าประมาณ 15 เดือน แต่ ธกส.ไม่ให้ สมาชิกทั้ง 41 ราย จึงรวมตัวเขียนป้าย ขอความช่วยเหลือจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายใด หนำซ้ำ ธกส.ก็ลอยแพชาวบ้าน และยื่นฟ้องร้องชาวบ้านต่อศาลจังหวัดขอนแก่นแล้ว

ภายหลังการประชุม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากการฟังรายละเอียดจากชาวบ้านแล้ว เข้าใจว่า ชาวบ้านไม่ได้ทำผิด เพราะที่ดินแปลงนี้มันเกิดจากเจ้าของการบริจาคให้กับทางธนารักษ์ โดยมีเงื่อนไขว่า ให้เอามาทำตลาดกลางค้าข้าวเปลือก หากเอาไปทำอย่างอื่นผิดวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค และผู้บริจาคสามารถที่จะเรียกร้องคืนได้

“แต่ประเด็นก็คือว่าพอ ธกส.ได้ไป ไม่ได้เอาไปทำตลาดกลางข้าวเปลือกอย่างเดียว กลับให้ชาวบ้านมาเปิดร้านอาหารตามสั่ง และเปิดร้านค้าต้นไม้ และปล่อยเลยมาจนกลายเป็นงูกินหาง และเมื่อชาวบ้านมาขายต้นไม้กว่า 10 ปี โดยส่วนตัวมองว่าชาวบ้านไม่ผิด แต่เขาก็พยายามที่จะให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ มีการพยายามต่อรองเรื่อยมา ในขณะที่ทางกรมธนารักษ์ก็กลัวว่า เจ้าของเดิมที่บริจาคที่ดิน จะมาขอกรรมสิทธิ์คืน เพราะใช้ที่ดินทำผิดวัตถุประสงค์ จึงเป็นที่มา ที่ธกส.รีบยื่นฟ้องชาวบ้านดังกล่าว”