ข่าวสังคม

สสจ.นครพนม เสริมทักษะบุคลากรในการเจรจาต่อรองในภาวะวิกฤตจิตเวชและยาเสพติด กรณีก้าวร้าวรุนแรง

วันที่ 14 มีนาคม 2567 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนตรพนม โดยกลุ่มงานสุขภาพจิตและยาเสพติด จัด “ประชุมเชิงปฏิบัติการเจรจาต่อรองในภาวะวิกฤตจิตเวชและยาเสพติด (กรณีเหตุการณ์ก้าวร้าวรุนแรง)” โดยนายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมฯ นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมไอฮอล์ แกรนด์ โรงแรมไอโฮเท็ล อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ปัญหาของผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีอาการทางจิต และก่อเหตุความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนในชุมชน สร้างความหวาดกลัว และความหวาดระแวงในชุมชนที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ ถึงแม้จะมีระบบค้นหา คัดกรอง และเฝ้าระวังผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ครอบคลุมทุกมิติได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานจิตเวชและยาเสพติด (กรณีเกิดเหตุการณ์ก้าวร้าวรุนแรง) จึงเห็นควรเพิ่มศักยภาพ ด้านทักษะการเจรจาต่อรองในภาวะวิกฤตจิตเวชและยาเสพติดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจิตเวชและยาเสพติด และต้องขอขอบคุณเครือข่ายการทำงานจิตเวชและยาเสพติด จากโรงพยาบาลทุกแห่ง ตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม และที่ทำการปกครองอำเภอ ที่เห็นประโยชน์ ให้ความสำคัญ และเสียสละเวลาเข้าร่วม “ประชุมเชิงปฏิบัติการเจรจาต่อรองในภาวะวิกฤตจิตเวชและยาเสพติด” ในครั้งนี้

นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาของผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต และก่อเหตุความรุนแรงกับบุคคลใกล้ชิด ครอบครัว หรือคนในชุมชน ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีมีมติให้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด โดยมุ่งเน้นการดูแลต่อเนื่องในชุมชนของผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง จัดตั้งชุดปฏิบัติการประจำตำบล ชุดรักษาความปลอดภัย ชุดเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งค้นหา คัดกรอง และเฝ้าระวังการก่อความรุนแรง จากนโยบายด้านยาเสพติดจังหวัดนครพนม ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง โดยบูรณาการนำเข้าข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (One Data Center)

จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด ทั้งสิ้น 5,595 คน แบ่งประเภทผู้ป่วยสีแดง จำนวน 707 คน ผู้ป่วยสีส้ม จำนวน 290 คน ผู้ป่วยสีเหลือง จำนวน 818 คน และผู้ป่วยสีเขียว จำนวน 3,780 คน ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ต้องดูแลเฝ้าระวัง และพร้อมจะก่อเหตุความรุนแรงได้ทุกเมื่อ โดยโรคจิตเวชที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง 4 อันดับ ได้แก่ (1) โรคจิตเวชที่เกิดจากยาเสพติด (2) โรคจิตเภท (3) โรคความผิดปกติทางอารมณ์ และ (4) โรคจิตเวชอื่นๆ เมื่อกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ จะนำไปสู่การเกิดอาการทางจิตที่รุนแรง เช่น หลงผิด หวาดระแวง หูแว่ว ภาพหลอน และมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ทำร้ายตนเองและผู้อื่น หรือทำลายทรัพย์สิน และในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจากผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ดังนั้น หากผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการเจรจาต่อรอง เมื่อเกิดเหตุบุคคลคลุ้มคลั่งเอะอะอาละวาด ก็จะสามารถลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งของตนเองและผู้อื่น

“จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและเฝ้าระวังผลกระทบจากผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการเจรจาต่อรอง จึงได้จัดโครงการ “ประชุมเชิงปฏิบัติการเจรจาต่อรองในภาวะวิกฤตจิตเวชและยาเสพติด” ขึ้น ระหว่างวันที่ 14-15 มีนาคม 2567 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะการเจราจาต่อรอง เมื่อเกิดเหตุการณ์ก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งเนื้อหาการอบรม ประกอบด้วย 1) การเจรจาต่อรองในภาวะวิกฤตจิตเวชและยาเสพติด 2) บุคคลประเภทต่างๆ ในการเจรจาต่อรองในภาวะวิกฤต และสถานการณ์จำลอง ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตและยาเสพติดในโรงพยาบาล ตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม และที่ทำการปกครองอำเภอ จำนวน 80 คน และวิทยากรได้รับเกียรติจากอาจารย์วัลลี ธรรมโกสิทธิ์ นักจิตวิทยาคลินิกเชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์”