ข่าวสังคม

ชีวิตสุดดราม่า ยายเป็นเจ้าของที่ถูกฮุบที่ดิน 10 ไร่วอนกรมที่ดิน เร่งสางปัญหาพิพาทมาราธอน 20 ปี

ยายวัย 76 ปีชาวตำบลกลางหมื่น อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ หอบเอกสารการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 ตั้งแต่ปี 2507 และนำชี้แนวเขตพื้นที่ 10 ไร่ ระบุถูกคนที่มาขออยู่อาศัยทีหลังซึ่งไม่ใช้ญาติ อ้างสิทธิ์ถือครอง บุกรุกและข่มขู่ ล่าสุดจะปิดทางเข้า-ออก เผยตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี เกิดข้อพิพาทกันหลายครั้ง ร้องเรียนสำนักงานที่ดินจังหวัดและศูนย์ดำรงธรรมไม่คืบหน้า วอนกรมที่ดินเร่งแก้ไขปัญหาด่วน

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่บ้านเลขที่ 44 หมู่ 9 บ้านเหล่ากลาง ต.กลางหมื่น อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นางหงษ์ ดลปัดชา อายุ 76 ปี เจ้าของบ้าน ได้นำเอกสารการครอบครองที่ดินจำนวน 10 ไร่ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ์ประเภท ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) พร้อมเอกสารการร้องเรียน หนังสือโต้ตอบจากสำนักงานที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน พร้อมนำชี้แนวเขตพื้นที่ครอบครอง และบริเวณที่เป็นพื้นที่พิพาท ซึ่งอยู่ติดกับบ้านของตน โดยอ้างถูกเพื่อนบ้านรายหนึ่งบุกรุก  ทำให้ตนและลูกหลาน ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินแปลงนี้ ได้รับความเดือดร้อนมาตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี

นางหงส์ ดลปัดชา กล่าวว่า ที่ดินจำนวน 10 ไร่แปลงดังกล่าว เป็นที่ปลูกสร้างที่พักอาศัย  บางส่วนเป็นแนวป่า ถือเป็นที่ดินมรดก ทั้งนี้ตนกำพร้าพ่อ อาศัยอยู่กับนางเคน การเลิศ มารดา และนายนู การเลิศ พี่ชายต่างบิดาในพื้นที่ดังกล่าว ตามทะเบียนการครอบครองที่ดินซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรม และตามแบบสำรวจเนื้อที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.6) โดยมีเอกสารสิทธิ์แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เมื่อปี 2498 โดยมีนางเคน การเลิศ มารดา และนายนู การเลิศ พี่ชายต่างบิดา เป็นเจ้าของที่ดิน

นางหงส์ กล่าวอีกว่า ต่อมาในปี 2507 หลังจากนางเคน การเลิศ มารดาเสียชีวิต นายโสม กายาสิทธิ์ ซึ่งเป็นลุง ได้มอบ ส.ค.1 ให้ตนเก็บรักษาไว้เพื่อที่จะให้เป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลาน เนื่องจากสงสารตนที่เป็นลูกกำพร้าบิดามารดา โดยให้นายนู การเลิศ พี่ชายต่างบิดาเป็นผู้ดูแลที่ดินแปลงนี้ร่วมกัน ต่อมาในปี 2508  มีชาวบ้านรายหนึ่งได้มาขอสร้างบ้านอยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าว  โดยอ้างว่าอยู่ใกล้แปลงนาที่นายโสม กายาสิทธิ์ ลุงของตนขายที่นาให้ ซึ่งเป็นคนละแปลงกับที่ 10 ไร่ดังกล่าว จึงให้อยู่อาศัยโดยตกลงไม่ให้แผ้วถางพื้นที่ป่าและไม่ให้ทำประโยชน์อย่างอื่น แต่ชาวบ้านรายดังกล่าวไม่ยอมทำตามที่ตกลง มีการบุกรุกถางป่า ตัดโค่นต้นไม้ในพื้นที่ ทั้งนำรถไถมาปรับเกรดทำไร่มันสำปะหลังมาเรื่อยๆ

นางหงส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2546 ได้มีการสำรวจออกโฉนดที่ดิน ตนจึงได้นำหลักฐานที่ดิน ส.ค.1 ฉบับดังกล่าว เฉพาะส่วนไปออกโฉนดที่ดินจำนวน 1 งาน 73 ตารางวา ให้แก่นางมะลิ เคราะห์ดี บุตรสาว เพื่อใช้เป็นหลักฐานจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเหล่ากลาง และได้ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 181 เลขที่ 49270 เล่ม 493 หน้า 70 อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ออกให้เมื่อปี 2547 ขณะที่พื้นที่ส่วนที่เหลือ ตนได้พยายามติดตามเรื่องกับที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ หลายครั้ง เพราะเกรงว่าจะมีการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้อื่นโดยไม่สุจริต ซึ่งต่อมาตนก็ได้รับหนังสือชี้แจง จากสำนักงานที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ว่าการขอออกที่ดินดังกล่าวผิดพลาด เนื่องจากการเดินสำรวจออกโฉนด ผิดตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดิน นอกจากนี้ตนยังได้ทราบว่า ชาวบ้านรายดังกล่าวที่มาขออยู่อาศัยและสร้างที่พักในที่ดินดังกล่าว ได้เดินเรื่องขอออกโฉนดที่ดินด้วย  เกรงว่าจะเป็นลักษณะสวมสิทธิ์ โดยนำโฉนดที่นาที่ซื้อจากนายโสม ซึ่งเป็นคนละแปลงและอยู่คนละที่มาเป็นหลักฐานประกอบ

นางหงส์ กล่าวในตอนท้ายว่า เมื่อเหตุการณ์เป็นในลักษณะดังกล่าว ในปี 2560 ตนจึงเข้าร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์  ขณะที่ชาวบ้านรายดังกล่าว ยังทำการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำไร่มันสำปะหลังเป็นบริเวณกว้างกว่าเดิม โดยไม่ยอมรับฟังการทักท้วงห้ามปรามของใคร นอกจากนี้ยังได้ข่มขู่ว่าจะปิดทางเข้าโดยก่อสร้างกำแพงปิดกั้นอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ตนและลูกหลาน ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินและอยู่อาศัยมาทั้งชีวิตได้รับความเดือดร้อน จึงร้องผ่านสื่อและวิงวอนกรมที่ดินหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ช่วยลงมาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนด้วย