ข่าวสังคม

จิตอาสาพระราชทานจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกิจกรรมพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี

จิตอาสาพระราชทานจังหวัดกาฬสินธุ์ ทำความดี ด้วยหัวใจ ร่วมกิจกรรม จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต บ้านโจด หมู่ที่ 10 ตำบลเจ้าท่า อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ นายทรงพล  ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัดกาฬสินธุ์ นำจิตอาสาพระราชทานจังหวัดกาฬสินธุ์ ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกิจกรรม จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (CLM) ระดับตำบล ของนางอุไลย์  ทบวัน  ซึ่งเป็นไปตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล

โดยจิตอาสาพระราชทานได้ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้พระราชทานโครงการจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมในการทำประโยชน์แก่สังคม ชุมชนและประเทศชาติ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำแนวทางจิตอาสาพระราชทานนี้ มาจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี เพื่อเป็นการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และสร้างจิตสำนึกในการเกื้อกูลแบ่งปัน อันเป็นวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและดีงามของประเทศไทย โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พ.อ.เรืองพงษ์ วงศรีสุข รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสัมฤทธิ์ กิตติโชติสุขสงค์ นายอำเภอกมลาไสย พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทานจังหวัดกาฬสินธุ์เข้าร่วมกิจกรรม

นอกจากนี้นายทรงพล  ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้รอบแปลงศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบฯ พร้อมทั้งได้ร่วมกันปล่อยปลาตะเพียนจำนวน 30,000 ตัว และเยี่ยมชมแปลงสาธิต โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งมีพื้นที่ 15 ไร่ ได้ทำการปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา พร้อมทั้งเตรียมเพาะปลูกพืชบนคันนา เป็นคันนาทองคำ ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และเยี่ยมชมแปลงเพาะต้นกล้าสมุนไพร ประกอบด้วย  ฟ้าทะลายโจร ว่านหางจระเข้ ว่านไฟ และพืชผักสวนครัว ทั้งนี้ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (CLM) ระดับตำบล บ้านโจด มีประชาชน ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และสอบถามเกี่ยวกับการทำโคก หนอง นา โมเดล อย่างต่อเนื่อง