ข่าวสังคม

กาฬสินธุ์เลี้ยงกบในป่ายางพาราใช้พื้นที่คุ้มค่าสร้างรายได้ตลอดปี

ศูนย์เรียนรู้ด้านการประมงอำเภอสหัสขันธ์ เปิดตัวฟาร์มเลี้ยงกบนาในป่ายางพารา ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า ลดรายจ่าย อีกหนึ่งทางเลือกเกษตรกรสู้วิกฤติโควิด เผยเตรียมจำหน่ายทั้งกบเนื้อ กก.ละ 100-120 บาท และพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 64 ที่ศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง บ้านศรีสมบูรณ์ ตำบลนิคม อำเภอสหัสขันธ์ นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ นางสาวกฤษณา เขามีทอง ประมงอำเภอสหัสขันธ์ ออกเยี่ยมศูนย์เรียนรู้ด้านการประมงอำเภอสหัสขันธ์ ที่สวนยางพารา ของนางบุญโฮม ปรีจิตต์ และนายพิเชษฐ์ ปรีจิตต์ เกษตรกรบ้านศรีสมบูรณ์ หมู่ที่ 4 ตำบลนิคม อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งได้จัดทำศูนย์เรียนรู้ทำการประมง เลี้ยงกบนาในป่ายางพารา ที่สามารถลดต้นทุนโรงเรือน อาศัยร่มเงาจากต้นยางพารา ลดร้อนให้กบในบ่อดิน

นางสาวกฤษณา เขามีทอง ประมงอำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพของเกษตรกรในการประมง ของอำเภอสหัสขันธ์ โดยได้กระจายศูนย์เรียนรู้ตามความสมัครใจของเกษตรกรใน 8 ตำบล 8 ศูนย์เรียนรู้ ของนายพิเชษฐ์ ปรีจิตต์ และนางบุญโฮม ปรีจิตต์ เกษตรกรได้รับการสนับสนุนจากประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ และ ประมงอำเภอสหัสขันธ์ เลี้ยงกบนาไว้จำนวน 2,000 ตัว และวัสดุ อุปกรณ์ อาหารกบ เป็นเงินกว่า 5,000 บาท ในปีแรก และในปีถัดไปก็จะไดรับการสนับสนุนในนามศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง จำนวน 2,000 บาท ต่อปี ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ แยกเป็นกบนาเนื้อไว้จำหน่ายใน กก.ละ 100-120 บาท ขณะที่กบพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ อีกส่วนหนึ่ง เตรียมไว้ขายพันธ์เพื่อจำหน่ายพันธุ์กบ และจำหน่ายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งแยกเป็นรายได้ 3 ส่วน ที่จะสามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้เกษตรกรยังลดรายจ่ายโรงเรือน ด้วยการเลี้ยงกบนาบ่อดินในป่ายางพาราท้ายสวนหลังบ้าน โดยเบื้องต้นผลผลิตเป็นที่น่าพอใจเป็นอีกศูนย์เรียนรู้ด้านการเพาะเลี้ยงกบสำหรับเกษตรกรผู้สนใจได้เป็นอย่างดี

นายพิเชษฐ์ ปรีจิตต์ เกษตรกร ต.นิคม กล่าวว่า มีความสนใจจะเลี้ยงกบนา จึงเข้าไปปรึกษาประมงอำเภอสหัสขันธ์ จากนั้นได้ลงพื้นที่ศึกษาตามจุดเรียนรู้แหล่งต่าง ๆ จนมีแนวความคิดที่จะเลี้ยงในบ่อดิน เพราะไม่อยากสิ้นเปลืองในการก่อสร้างโรงเรือน และมีความต้องการเลี้ยงแบบธรรมชาติมากกว่า จึงได้ประยุกต์เอาพื้นที่ว่างเปล่าในป่าย่าง มาขุดบ่อลึก 1.20 เมตร ยาว 10 เมตร จำนวน 3 บ่อ รอบปากบ่อใช้มุ้งเขียวมุงรอบ ใช้ผ้าสแลนสีดำปิดปากบ่อโดยใช้ไม้ไผ่ที่หาง่ายเป็นแนวหลักเสริมความแข็งแกร่งของบ่อเลี้ยง ในการลงทุนครั้งแรกมีค่าใช้จ่ายไม่ถึง 3,000 บาท ส่วนระบบน้ำได้ใช้น้ำบ่อบาดาลสูบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ปล่อยระบายน้ำเข้า – ออกบ่อเลี้ยงกบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยได้เริ่มต้นเลี้ยงมา 4 เดือนขณะนี้สามารถจับกบจำหน่ายได้แล้ว รุ่น 4-6 ตัว ต่อ 1 กก. ขายที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท ตามไซส์ของกบนอกจากจะขายกบเนื้อแล้วยังเริ่มเรียนรู้เพาะพันธุ์ลูกกบจำหน่าย และขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบด้วย ทำให้มีรายได้หมุนเวียนตลอด

นายพิเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ด้วยสถานการณ์โควิด ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนทุกครัวเรือน การออกไปรับจ้างทำงานอาจจะเสี่ยงสูง จึงหันมาทำสวนทำนา ทำไร่ ที่บ้าน โชคดีมีที่ดินทำกิน 15 ไร่ เป็นสวนยางพารา 12ไร่ พื้นที่โคกหนองนา 3 ไร่ พื้นที่เลี้ยงกบนา อยู่ในป่ายาง โดยใช้ช่องว่างระหว่างต้นยางพารา เป็นบ่อขุด นอกจากจะอาศัยร่มเงา ความเย็นสบายในป่ายางเลี้ยงกบนาได้ดีไม่ร้อน ป่ายางก็จะได้ความชุ่มชื้นจากบ่อกบ หล่อเลี้ยงกันและกัน ซึ่งเป็นการผสมผสานและใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า สำหรับเกษตรกรที่สนใจอยากได้พันธุ์กบ ก็สอบถามมาได้ โดยทางศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง บ้านศรีสมบูรณ์ ตำบลนิคม อำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ยังเปิดโอกาสให้เพื่อเกษตรกรที่สนใจมาเรียนรู้ได้ทุกวัน ที่บ้านศรีสมบูรณ์ ตำบลนิคม อำเภอสหัสขันธ์ หรือจะโทรติดต่อได้ที่ 095-949-4300 หรือที่สำนักงานประมงอำเภอสหัสขันธ์ 084-766-3198