ข่าวสังคม

รวมพลังจิตอาสาต้านภัยแล้ง สร้างฝายชะลอน้ำในลำห้วย พื้นที่นอกเขตชลประทาน

จังหวัดกาฬสินธุ์รวมพลังจิตอาสาต้านภัยแล้งอย่างยั่งยืน พร้อมปล่อยขบวนรถ และกำลังพล สร้างฝายชะลอน้ำช่วยเหลือประชาชนในตำบลเว่อ อำเภอยางตลาด พื้นที่นอกเขตชลประทาน หลังประสบปัญหาแหล่งน้ำในล้ำห้วยแห้งขอด ไม่สามารถใช้ประโยชน์อุปโภค บริโภค และปลูกพืชในช่วงหน้าแล้งได้

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานตรวจความพร้อม และปล่อยขบวนยานพาหนะ ข่ายสื่อสาร และปล่อยแถวจิตอาสาพระราชทาน เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ภายใต้กิจกรรม “รวมพลจิตอาสาต้านภัยแล้ง” ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์  ซึ่งเป็นความร่วมมือของเจ้าหน้าที่พลเรือน ศาล ทหาร ตำรวจ  โดยมีนางอารีย์ โรจน์วัฒนบูลย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผวจ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.สมนึก มิควาฬ ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ พ.อ.ฉกาจพงษ์ หงษ์ทอง รองผบ.พล ม.3 พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผบ.มณฑลทหารบกที่ 23 นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.รพ.กาฬสินธุ์ น.ส.ชนกพร โพธิสาร ประชาสัมพันธ์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายอำเภอ และจิตอาสาได้ปล่อยแถวขบวนยานพาหนะ เข้าร่วมกิจกรรม 64  คัน และบุคลากร ร่วมกิจกรรม 1,691 คน โดยเป็นยานพาหนะในการลำเลียง บุคลากร รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถบรรทุกน้ำ

นอกจากนี้นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ยังได้นำจิตอาสาพระราชทาน ร่วมกันบรรจุกระสอบทราย สร้างฝายชะลอน้ำในลำห้วยก้านเหลือง บริเวณพื้นที่หมู่ 10  บ้านคำเจริญ ต.เว่อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เพื่อเตรียมรับและชะลอกักเก็บน้ำที่ไหลมาจากป่าดงระแนงในช่วงหน้าฝนใช้ให้ประชาชนใน ต.เว่อ กว่า 10 หมู่บ้าน ได้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค และเพาะปลูกพืช หลังจากพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาแล้งซ้ำซากทุกปี และเป็นหนึ่งในพื้นที่ประกาศภัยแล้งของ จ.กาฬสินธุ์

นายชัยธวัช เนียมศิริ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการคลิกอ๊อฟโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน ซึ่งดำเนินการภายใต้จิตอาสาพระราชทานฯพร้อมกันทั่วประเทศ ช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาและประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง 12 จังหวัด ซึ่งบ้านคำเจริญ ม.10 ต.เว่อ อ.ยางตลาด เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ทาง จ.กาฬสินธุ์ประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยแล้ง ซึ่งจุดนี้เป็นการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลลงมาจากป่าสงวนแห่งชาติป่าดงระแนงในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยการร่วมใจกันใช้กำลังคนในการสร้างฝาย และจะใช้เครื่องจักรขุดขยายลำห้วยก้านเหลืองให้กว้างขึ้น พร้อมทั้งเร่งขุดบ่อในลำห้วยเป็นจุดๆตลอดสายเป็นช่วงๆเหมือนหลุมขนมครก  เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนไว้ให้ประชาชนได้อุปโภค บริโภค และปลูกพืชได้มากที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมาในช่วงหน้าฝนเดือนพฤษภาคมจะมีปริมาณน้ำไหลมา แต่ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ ทำให้ปริมาณน้ำหมดในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งวิธีการนี้เป็นการน้อมนำเอาแนวทางพระราชดำริ มาแก้ไขปัญหาระยะยาว