ข่าวสังคม

มุกดาหาร – จิตอาสา วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

จัดกิจกรรมจิตอาสาเนื่องในโอกาสวันสำคัญของชาติไทย วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

นายวลัยพรรณ น้อยสันเทียะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธาน นำจิตอาสาพระราชทาน “เราทำดี ด้วย หัวใจ” หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน จำนวนกว่า 500 คน ร่วมพัฒนาสะพานห้วยน้อย บ้านบางทรายน้อย ตำบลบางทรายน้อย อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ในโอกาสวันสำคัญของชาติไทย ในวันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2565 วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 โดยการปรับภูมิทัศน์ ทำความสะอาด ปัดกวาดบริเวณพื้นถนน กำจัดวัชพืช

ทั้งนี้ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ที่ทรงประกอบพระราชกรณียะกิจ นานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติ ทั้งในอดีตและพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน ตลอดจน เป็นการดำเนินการตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบำเพ็ญประโยชน์พื้นที่ชุมชนและผู้อื่น ด้วยความเสียสละ โดยไม่หวังผลตอบแทน และดำเนินการตามศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ในการปฏิบัติกิจกรรมจิตอาสา ในโอกาสวันสำคัญของชาติไทย ตามความเหมาะสมในบริบทของพื้นที่ อาทิ การขุดลอกคูคลอง การดูแลรักษา ความสะอาดเรียบร้อย ของศาสนาสถาน หรือสถานที่สาธารณะ การจัดเก็บผักตบชวา การปลูกต้นไม้ รวมทั้งการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่สร้างความเป็นอยู่ของ ชุมชนให้เข้มแข็ง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เวลา 12.25 น. หรือตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2436 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 96 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระองค์ที่ 14 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 และทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2478 รวมดำรงสิริราชสมบัติ 9 ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 สิริพระชนมพรรษา 47 พรรษา

พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง โปรดให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรี ทรงตรากฎหมายเพื่อควบคุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน ระบบเทศบาล ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น พระองค์โปรดให้สร้างหอพระสมุด ทรงปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ มีการปรับปรุงการศึกษาจนยกระดับมาตรฐานถึงปริญญาตรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยสมบูรณ์ ชื่อว่า “พระไตรปิฎกสยามรัฐ” เป็นต้น