ข่าวสังคม

กาฬสินธุ์ระดมกึ๋นเสาหลักจังหวัดพัฒนาโรงพยาบาลรับมือโควิดโรคประถิ่นน้องใหม่

โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ แต่งตั้งบุคคลต้นแบบระดับจังหวัดจากทุกสาขาอาชีพ เป็นคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ และยกระดับความสามารถในการจัดการที่ดี มีบริการประทับใจ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และเตรียมความพร้อมบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 โรคประจำถิ่นน้องใหม่ในเร็วๆนี้

ที่ห้องประชุมเปรื่อง อนุชวานิช โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นายแพทย์ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ครั้งที่ 1/2565 โดยมีนายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล อดีต สว.กาฬสินธุ์ นพ.สมอาจ ตั้งเจริญ อดีต ผอ.รพ.กาฬสินธุ์ นายศิวบูลย์ ชัยสงคราม รอง ผอ.รพ.กาฬสินธุ์ นางจงกลนี เกียรติดำเนินงาม นายกสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ นางอุมารินทร์ เลิศสหพันธ์ ประธานวัฒนธรรม อ.เมืองกาฬสินธุ์ นายโชฎึก คงสมของ กรรมการผู้จัดการเฮือนสวนดอนธรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ บุคคลากร รพ.กาฬสินธุ์ และคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายแพทย์ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นบุคคลต้นแบบหรือบุคคลเสาหลักของ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งจากภาคเอกชน และมูลนิธิต่างๆ รวมทั้งคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ บุคคลากร รพ.กาฬสินธุ์ จำนวน 41 คน ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ให้มีความสามารถในการจัดการที่ดี มีบริการประทับใจ เพิ่มความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข

นายแพทย์ประมวลกล่าวอีกว่า เพื่อให้มีการวางแผนการทำงาน กำหนดนโยบายพัฒนาโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ ตลอดทั้งส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาโรงพยาบาล และด้านอื่นๆตามความเหมาะสม จึงได้จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ขึ้น ทั้งนี้ ได้เปิดกว้างให้คณะกรรมการฯ ได้แสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนา การให้บริการ ขณะที่ในส่วนของโรงพยาบาลกาฬสินธุ์เอง ก็ได้แจ้งให้คณะกรรมการฯ ได้ทราบ ถึงโรดแมปที่ทางโรงพยาบาลจะดำเนินการทั้งในระยะสั้น ระยะยาว เช่น การเตรียมความพร้อมบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 โรคประจำถิ่นน้องใหม่ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ ห้องสำหรับตรวจรักษาและฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2566 ยังได้รับอนุมัติงบประมาณกว่า 350 ล้านบาท ในการสร้างตึกหลังใหม่ ขนาด 8 ชั้น เพื่อลดความแออัด ลดการรอคอยของญาติ เป็นต้น

“สำหรับปัญหาที่พบในช่วงที่ผ่านมาคือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ยังขาดแคลนและต้องการ คือนักเทคนิคการแพทย์และนักรังสีเทคนิค ความแออัดทั้งในส่วนของลานจอดรถ ถนนที่แคบ ร้านอาหารสำหรับญาติ ที่ยังไม่เพียงพอ รวมทั้งการขอใช้พื้นที่บริเวณศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ซึ่งจะได้มีการพุดคุยกับทางเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อให้เกิดการตกผลึกและหาบทสรุปที่ชัดเจนในโอกาสต่อไป และในส่วนของการขออนุญาต อบจ.กาฬสินธุ์ ในการใช้หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา หน้าศาลากลางหลังเก่า เพื่อเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับฉีดวัคซีนมาประมาณ 2 ปีนั้น ในวันที่ 20 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ก็จะได้ส่งคืน อบจ.กาฬสินธุ์แล้ว จึงขอประกาศให้ประชาชนที่จะมารับบริการฉีดวัคซีนได้รับทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้ หากมีความประสงค์จะขอรับการฉีดวัคซีน สามารถมาวอล์คอินที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ได้ในวัน-เวลาราชการ” นายแพทย์ประมวลกล่าว

นายแพทย์ประมวลกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการรับวัคซีนสร้างภูมิป้องกันโควิด-19 นั้น ถึงแม้ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข จะประกาศเป็นโรคประจำถิ่น ในวันที่ 1 ก.ค.ที่จะถึงนี้ แต่สำหรับบุคคลใดที่จะเดินทางไปต่างประเทศ หากฉีด 3 เข็มสุดท้ายเป็นซิโนแว็ค ต่างประเทศเขาจะไม่อนุญาตให้เข้าประเทศ ดังนั้นวัคซีน 3 เข็มสุดท้ายที่ฉีดจะเป็นวัคซีนยี่ห้อใดก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ซิโนแว็ค จึงขอประชาสัมพันธ์ให้รับทราบอีกเรื่องหนึ่ง