ข่าวสังคม

โวย ท.กุดสิมใช้ผ้าน้ำขาวทำหน้ากากแจกชาวบ้าน จับตาท้องถิ่นใช้งบสู้โควิด19

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่เขตเทือกเขาภูพาน อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เรียกร้องให้ตรวจสอบงบจัดทำหน้ากากอนามัยของเทศบาลตำบลกุดสิม เนื่องจากใช้ผ้าสารูหรือผ้าน้ำขาว ที่มีขนาดบางไม่มีมาตรฐานและไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคไวรัสโคโรนาหรือโควิด19 ได้

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2563 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบหลังมีรายงานกระแสในโลกโซเชียล เรียกร้องให้ตรวจสอบ การใช้งบประมาณของเทศบาลตำบลกุดสิม อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ กรณีการทำหน้ากากอนามัย เพื่อแจกจ่ายประชาชน ที่ระบุว่าหน้ากากอนามัยไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีความบางกว่าผ้าอนามัยเสียอีก

ที่บ้านกุดสิม หมู่ที่ 10 ตำบลกุดสิม อำเภอเขาวง เป็นบ้านของนางดอกไม้ จ้องสระ อายุ 50 ปี และเป็น อสม.ประจำหมู่บ้าน ได้เปิดเผยกับทีมข่าวกรณีมีคนโพสต์ในโลกโซเชียล เกิดขึ้นในเทศบาลตำบลกุดสิม เป็นปัญหาการร้องเรียนหน้ากากอนามัย ซึ่งเทศบาลตำบลกุดสิม จัดหางบประมาณมาให้ อสม. ช่วยกันทำ แต่เมื่อทำออกมาแล้ว หน้ากากอนามัยบางกว่าผ้าอนามัยเสียอีก เพราะได้ใช้ผ้าสารูหรือผ้าน้ำข้าว ผ้าอ้อมเด็กชนบท ที่มีคุณลักษณะบางเป็นตาข่ายชั้นเดียวมาทำหน้ากาก ซึ่งไม่มีมาตรฐาน

นางดอกไม้ จ้องสระ อสม.ประจำหมู่บ้าน ระบุด้วยว่า หลังจากช่วยกันเย็บหน้ากากเรียบร้อยประมาณวันที่ 20 มีนาคม เทศบาบฯให้อสม.ไปแจก ซึ่งบางคนก็แจกและตนกับหลายคนก็ไม่กล้าแจกเพราะแจกไปก็โดนชาวบ้านต่อว่าแน่นอน และก็เป็นความจริงเพราะมีการโพสต์ในโลกโซเชียลเพราะมันมีความบางมากๆ จึงต้องการให้ นายกรัฐมนตรี ลุงตู่ ตรวจสอบด้วย

สำหรับเทศบาลตำบลกุดสิม มี 25 หมู่บ้าน ประชากรกว่าสี่พันคน อยู่ในเขตรอยต่อเทือกเขาภูพานและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทย

แหล่งข่าวระบุว่า กรณีนี้ต้องการให้ทุกจังหวัดโดยเฉพาะผู้ว่าฯ จัดทีมตรวจสอบการบริหารงบประมาณในสถานการณ์ฉุกเฉินของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกท้องที่ เพราะความหวาดกลัวโรคไข้หวัดโคโรนาหรือโควิด19 เป็นโรคที่เชื้อแพร่ระบาดมองไม่เห็นและนับวันจะรุนแรงมากขึ้น และทางกระทรวงมหาดไทยได้ยกเว้นระเบียบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้งบประมาณแก้ปัญหา แต่กลับพบว่ามีการทุจริตจัดทำหน้ากาก และอีกปัญหาที่ชวนให้สงสัยก็เรื่องการใช้เงินซื้อน้ำยาเพื่อฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งได้จัดซื้อน้ำยาและทำการฉีดฆ่าเชื้อที่ดูเหมือนว่าน้ำยาและอุปกรณ์ที่ใช้จะไม่มีมาตรฐานในการกำจัดเชื้อโรคไวรัสโคโรนาเช่นกัน