ข่าวสังคม

สารวัตรหนุ่มเมืองน้ำดำพลิกวิกฤติผืนดินแล้ง ผุดโคกหนองนาสร้างความมั่นคงทางอาหารช่วงโควิด

สารวัตรหนุ่มเมืองน้ำดำพลิกวิกฤติผืนดินแล้ง ปรับเปลี่ยนพื้นที่นาผุดศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา แหล่งเรียนรู้เกษตรครบวงจรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความมั่นคงทางอาหารเป็นต้นแบบให้กับชุมชนในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาด

ที่บริเวณแปลงนา พ.ต.ต.จตุพร เบ็ญจกุล สวป.สภ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ติดถนนสายกมลาไสย-ร่องคำ ต.กมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.สมนึก มิควาฬ ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ เป็นประธานจัดกิจกรรมโครงการจิตอาสาศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์  โดยมี พ.ต.อ.วรวัฒน์ มะลิ  รอง ผบก.สืบสวนสอบสวน ภ.4 พร้อมด้วยหัวหน้าสถานี ข้าราชการตำรวจ ทั้ง 23 แห่ง และประชาชน ร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก

พ.ต.ต.จตุพร เบ็ญจกุล สวป.สภ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่ในปี 2562 สภ.กุฉินารายณ์ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับ จ.กาฬสินธุ์ ในการประกวดโครงการประเมินตำรวจชุมชนมวลชนสัมพันธ์ (ชมส.) ทั้งนี้จากการที่ตนเป็นหนึ่งในชุด ชมส. และเห็นจุดเด่นที่ สภ.กุฉินารายณ์ สามารถเอาชนะใจคณะกรรมการที่ทำการประเมินได้ คือ ชุมชนที่เราเข้าไปสร้างเสริม สนับสนุน และมีส่วนร่วมนั้น ได้มีการทำการเกษตรผสมผสานครบวงจรและได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องและเป็นไปตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งผลผลิตที่ได้นอกจากจะเก็บไว้รับประทานในครัวเรือนแล้ว ยังเหลือแบ่งขาย สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน และยังสามารถแลกเปลี่ยน หรือแบ่งปันกันในชุมชนอีกด้วย

พ.ต.ต.จตุพร กล่าวอีกว่า ต่อมาตนได้เป็นตัวแทน ชสม.สภ.กุฉินารายณ์ ได้เข้ารับการอบรมเพิ่มเติมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง  ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จึงเป็นการจุดประกายให้สนใจการเกษตรมากขึ้น และสามารถต่อยอดได้ เนื่องจากผลผลิตภาคการเกษตรถือเป็นปัจจัยหลักในการครองชีพของทุกครัวเรือน หรือเป็นต้นทุนให้กับทุกชีวิต ไม่เกิดภาระหนี้สิน มีกิน มีใช้ ในกรอบของความพอเพียง จึงเกิดไอเดียที่จะนำองค์ความรู้ ที่ได้รับการอบรมมา จัดทำแปลงเกษตรผสมผสาน ในรูปแบบโคก หนอง นา เป็นของตนเอง

พ.ต.ต.จตุพร กล่าวต่อว่า หลังจากปรึกษาครอบครัว เพื่อปรับเปลี่ยนผืนนา 10 ไร่ ทำเป็นแปลงเกษตรต้นแบบ เนื่องจากการทำนาข้าวอย่างเดียวนั้น ผลผลิตและราคาไม่แน่นอน อีกทั้งยังต้องประสบปัญหาภัยแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ จึงพลิกผืนนาปรับเปลี่ยนทำแปลงเกษตร 8 ไร่ เหลือทำนาข้าว 2 ไร่ แบ่งพื้นที่ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกต้นไม้ หลุมพอเพียง เลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชผักชนิดต่างๆเป็นต้น ซึ่งในวันนี้มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อน จึงเชิญชวนข้าราชการตำรวจทุกระดับ มาร่วมโครงการจิตอาสา โคก หนองนา เพื่อเป็นต้นแบบในการทำเกษตรผสมผสานเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ข้าราชการตำรวจในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ใกล้เคียง และชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารทั้ง 5 หมู่ และสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในทุกๆด้านได้อีกด้วย