ข่าวสังคม

ตีกลองเฮฮาสร้างสีสันบรรยากาศงานบวชคลายร้อน

เจ้าภาพงานบวช ที่ตำบลปอแดง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น จัดเต็ม มอบความสุข ความสำราญให้กับแขกเหรื่อ ผู้มาร่วมอนุโมทนาบุญ ได้สนุกสนานแบบโจ๊ะๆ หลังพิธีปลงผมนาคและสู่ขวัญนาค โดยจ้างคณะกลองยาวพื้นบ้าน โชว์ลีลาสุดพลิ้ว ย่อตัวและเลื้อยตัวไปตามพื้น แล้วใช้ปากคาบเงิน เป็นกุศโลบายในการหาเงินให้อนุชน ลูก หลาน ได้มีจิตสำนึกในการหาเงินนั้นต้องใช้ความอดทน อดกลั้น สร้างสีสันและบรรยากาศที่อบอ้าวให้คลายร้อนได้เป็นอย่างดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านนายจอมพล-นางสงวน ประชากูล เลขที่ 233 บ้านปอแดง หมู่ 1 ต.ปอแดง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ได้มีการจัดพิธีอุปสมบทให้กับบุตรชาย 2 คน คือนายกฤษฎาพงษ์-ส.อ.เชิดตระกูล ประชากูล เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ ร.ต.อ.เดชอดุลย์ ก้อนคำ คลาคล่ำไปด้วยแขกเหรื่อ ญาติมิตร ทั้งไกล เดินทางมาร่วมพิธีและอนุโมทนาบุญ ท่ามกลางบรรยากาศที่ร้อนอบอ้าว อุณหภูมิแตะ 39 องศา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สถานที่จัดงานที่ทางเจ้าภาพตระเตรียมไว้จะกว้างขวาง มีพัดลมหลายตัวคอยปัดเป่าระบายอากาศ และมีสายลมเย็นพัดผ่านตลอดเวลา หรือขณะประกอบพิธีปลงผมนาคและสู่ขวัญนาค จะรู้สึกอิ่มบุญ อิ่มใจไปกับทางเจ้าภาพ ก็ยังรู้สึกร้อนอบอ้าว ซึ่งเป็นไปตามสภาพอากาศหน้าร้อน แต่พอทางเจ้าภาพประกาศว่า จะมีการโชว์ชุดพิเศษของคณะกลองยาว “คณะ 12 กลองยาวเพชรแวงใหญ่” เพื่อสมโภชพิธีปลงผมนาคและสู่ขวัญนาค ก็ทำให้บรรดาขาแด๊นซ์ นางรำ ทุกเพศ ทุกวัย ลืมความรู้สึกร้อนอบอ้าวโดยไม่รู้ตัว

โดยคณะกลองยาว ซึ่งเป็นทีมผสมตั้งแต่รุ่นปู่ลงมาถึงรุ่นหลาน ได้บรรเลงจังหวะจะโคนสนุกสนานตามท่วงทำนองอีสาน เป็นเวลากว่า 1 ชม. ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการโชว์ด้วยลีลาการตีกลองและฉิ่งฉาบ ในท่วงท่าแปลกใหม่ ซึ่งหลายคนบอกไม่เคยเห็นมาก่อน ขณะที่หัวหน้าคณะกลองยาวบอกว่าเป็นท่าการตีกลองประกอบการร่ายรำที่คิดกันขึ้นมาใหม่ ถึงแม้จะไม่ใช่ท่าพิสดาร แต่ก็ถือว่าแหวกแนว ที่สำคัญคือสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชมและบรรดาขาแดนซ์เป็นอย่างดี นั่นคือตีกลองท่านอนเลื้อยคาบเงิน

นายเลิง สุโข หัวหน้าคณะ 12 กลองยาวเพชรแวงใหญ่ กล่าวว่า ตนตั้งคณะกลองยาวฯมาประมาณ 15 ปี โดยสืบสานศิลปะการตีกลองยาวมาจากบรรพบุรุษ ต่อมามีการถ่ายทอดทักษะการตีกลองให้กับรุ่นลูก รุ่นหลาน และเยาวชนที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ผู้สนใจ ได้มาฝึกฝน โดยมีประสบการณ์ทั้งรับจ้างงานบุญ งานบวช งานแต่ง และอื่นๆ รวมทั้งแสดงโชว์ในมหกรรมงานไหมขอนแก่นและต่างจังหวัดหลายครั้ง ทั้งนี้ คณะกลองยาวเราเน้นตีกลองแบบดั้งเดิม บรรเลงได้ทุกจังหวะ ทั้งเซิ้ง ทั้งโจ๊ะๆ ช้าๆ มันส์ๆ แต่ไม่มีการแสดงโลดโผน แบบต่อตัว ตีลังกา เพราะอายุมากแล้ว และเห็นว่าเสี่ยงอันตราย หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาไม่คุ้ม

นายเลิงกล่าวอีกว่า ในส่วนของการโชว์ลีลาตีกลองคาบเงินนั้น เป็นท่าใหม่ที่เพิ่งคิดขึ้นมา เพื่อตามใจเจ้าภาพได้ชม เชียร์ และลุ้น เกิดความสนุกสนาน โดยเจ้าภาพจะวางธนบัตร ราคา 20 บาท 50 บาท 100 บาท หรือเงินเหรียญบนเสื่อ หมอกลองยาวทั้งหญิงชาย จะตีกลองวนรอบเหมือนเล่นเก้าอี้ดนตรี พอได้จังหวะก็ค่อยย่อตัวลง และเอนตัวลงนอนใช้ปากคาบธนบัตรขึ้นมา บางทีธนบัตรถูกลมพัด ขยับย้ายหนี หมอกลองก็ไถลตัวตามลักษณะเหมือนงูเลื้อยไปคาบเงิน จึงเกิดเป็นภาพน่ารัก ขบขัน สร้างความสนุกสนาน และคลายเครียดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและอบอ้าวได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม จากการตีกลองด้วยท่านอนเลื้อยคาบเงินดังกล่าว ยังเป็นกุศโลบายและปลูกจิตสำนึกให้ผู้ชม โดยเฉพาะเด็กรุ่นลูก รุ่นหลานที่มารับชม ได้เห็นว่าการหาเงินหรือการประกอบอาชีพ เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว และส่งเสียลูกหลานได้เล่าเรียนหนังสือนั้น ต้องใช้ความมานะ อดทน อดกลั้น ดังนั้นเมื่อได้เงินมา หรือเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ขอจากผู้ปกครอง หรือรับจ้างมาได้ควรเก็บออมและใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่าที่สุด เพราะเงินนั้นหายาก