ข่าวสังคม

บุรีรัมย์ กรรมการสถานศึกษาร้องเดินหน้าสร้างอาคารเรียนหลังผู้รับเหมาเดิมทำผิดแบบถูกยกเลิกสัญญาทำสูญงบหลวงเด็กเสียโอกาส

กรรมการการศึกษา ร.ร.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ให้ได้มาตรฐาน หลังผู้รับเหมารายเดิมทำผิดแบบไม่ได้มาตรฐานจนถูกยกเลิกสัญญาจ้าง ทำให้สูญงบประมาณรัฐและเด็กเสียโอกาสที่จะใช้อาคารเรียนใหม่ลดความแออัด ขณะ ร.ร.เผยอยู่ระหว่าง สพฐ.พิจารณา

วันที่ 9 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนละหานทราย (คุรุราษฎร์บำรุงวิทยา) ตำบลละหานทราย อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ได้ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาเดินหน้าก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนละหานทรายหลังใหม่ให้ได้มาตรฐาน หลังจากผู้รับเหมารายเดิมทำผิดแบบแปลนไม่ได้มาตรฐาน โดยการเปลี่ยนแปลงฐานรากของอาคารจากการตอกเสาเข็มตามแบบก่อสร้าง เป็นการทำฐานรากแบบฐานแผ่ทุกเสาแทน ทั้งที่ต้องรับน้ำหนักอาคารถึง 4 ชั้น ที่ผ่านมาตัวแทนผู้ปกครอง ศิษย์เก่า และคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ เคยทำหนังสือร้องเรียนหลายหน่วยงานให้ตรวจสอบ เพราะเกรงหากปล่อยให้สร้างเสร็จโดยไม่ได้มาตรฐาน แล้วเปิดให้ใช้งานก็จะเสี่ยงอันตรายกับครูและเด็กนักเรียนผู้ใช้อาคารดังกล่าว แต่ก็ยังเห็นผู้รับเหมาก่อสร้างต่อจนถึงชั้น 3 กระทั่งมาเกิดปัญหาอีกเพราะเสาชั้น 3 หลายต้นมีปูนหลุดร่อน ซึ่งทางโรงเรียนแจ้งให้ผู้รับเหมาแก้ไขแต่ไม่ดำเนินการ จึงได้ทำหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาจ้าง และรายงานให้ทาง สพฐ.รับทราบ ทำให้อาคารถูกชะลอการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 65 จนถึงปัจจุบัน ที่ทางคณะกรรมการการศึกษาฯ ออกมาเรียกร้องอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้พิจารณาก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ดังกล่าว ไม่ว่าจะรูปแบบหรือแนวทางไหนก็ตามแต่ขอให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย เนื่องจากไม่อยากให้สูญเสียงบประมาณรัฐโดยเปล่าประโยชน์ และเด็กต้องเสียโอกาสที่จะใช้อาคารเรียนหลังใหม่เพื่อลดความแออัดด้วย เพราะโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนมากถึง 1,200 คน ครูอีกกว่า 100 คน

นายชุมพล หลักชัย ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร.ร.ละหานทราย กล่าวว่า การก่อสร้างอาคารเรียนดังกล่าวผิดแบบไม่ได้มาตรฐานมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่ไม่ทราบเพราะเหตุใดถึงปล่อยให้ผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างมาจนถึงชั้น 3 กระทั่งเกิดปูนร่อนหลายเสา จนทางโรงเรียนได้ยกเลิกสัญญาจ้าง ซึ่งก็เห็นด้วยที่ไม่ปล่อยให้ก่อสร้างต่อโดยไม่ได้มาตรฐาน เพราะอาจเกิดอันตรายกับครู และลูกหลานที่เรียนในโรงเรียนดังกล่าวได้ แต่หากเป็นไปได้ก็อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาหาแนวทางก่อสร้างอาคารเรียนดังกล่าวให้ได้มาตรฐานและเกิดความปลอดภัย เพราะหากปล่อยทิ้งก็จะสูญเสียงบประมาณรัฐ และเด็กเสียโอกาสใช้อาคารเรียนหลังใหม่ด้วย

ทั้งนี้ จากการสอบถามทางโรงเรียนให้ข้อมูลว่า ได้แจ้งเรื่องไปยัง สพฐ.ซึ่งเป็นต้นสังกัดรับทราบแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับทาง สพฐ.จะพิจารณาดำเนินการ ซึ่งจากข้อมูลทราบว่าการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ 4 ชั้นดังกล่าว ใช้งบประมาณ 22 ล้านบาท จ่ายทั้งหมด 10 งวด จ่ายไปแล้ว 4 งวดๆ ละ 2 ล้านบาท สิ้นสุดสัญญา ปี 2565 (ต่อสัญญาเนื่องจากสถานการโควิด ถึง 5 มิ.ย.66) แต่การก่อสร้างชั้น 3 มีปัญหา เนื่องจากเสา 4 ต้นมีปูนร่อนไม่ได้มาตรฐานตามแบบ โดยตามแบบ 240 กก/ตร.ซม. แต่โยธาธิการจังหวัดตรวจวัดได้เพียง 210 กก./ตร.ซม. ผู้รับจ้างไม่ดำเนินการโดยอ้างผลทดสอบเสาจากวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจไม่ผ่านเมื่อ 12 พ.ย.64 และโรงเรียนแจ้งผู้รับจ้าง เมื่อ 15 พ.ย.64 โรงเรียนแจ้งให้ผู้รับจ้างเข้ามาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในธันวาคม 2564 แต่ปัจจุบันโรงเรียนมีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญา แจ้งเป็นผู้ทิ้งงานแล้ว