ข่าวสังคม

พ่อเมืองเลย kick off เอามื้อสามัคคี “โคก หนอง นา” พัฒนาศูนย์เรียนรู้ให้ประชาชนในพื้นที่

ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่หลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมด้วย นางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเลย/ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย นายคมสิทธิ์ สุริยวรรณ พัฒนาการจังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการ เครือข่าย“โคก หนอง นา”จังหวัดเลย และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมจังหวัดเลย ร่วมสร้างแปลงสาธิตโคก หนอง นา โมเดล ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เพื่อสร้างและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชนในรูปแบบโคก หนอง นา ขนาดพื้นที่ ๑ ไร่ และดำเนินการขุดปรับพื้นที่ด้วยวิธีการ “เอามื้อสามัคคี”

นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า กิจกรรม kick off เอามื้อสามัคคี “โคก หนอง นา” จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเลย หรือว่า ศูนย์การเรียนรู้ มีการนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีการผสมผสานกับทฤษฎีใหม่ โดยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นแนวทางประกอบการดำเนินงานที่ชัดเจน และยังเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” มาดำเนินการขยายผลในพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเชื่อมั่นว่า หากบุคลากรภาครัฐจากส่วนราชการต่างๆ ตลอดจนประชาชนบุคคลทั่วไป ได้เข้ามาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ จะเกิดความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับโมเดล โคก หนอง นา ที่ซ่อนกลิ่นอายของความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกันต่อชีวิตที่ดีเอาไว้ พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำในการขยายผลจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนแทนการจัดทำหลุมขยะเปียกที่จะทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการขุดหลุมเป็นรูปลิ่ม ให้ก้นหลุมลึกกว่าก้นถังและใช้ฝาปิดไว้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ในการคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิต ที่จะเป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาพื้นที่ และรักษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้มีความยั่งยืนต่อไป

ด้านโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โดยการประกอบด้วยกิจกรรมได้นำพันธุ์พืชที่รวบรวมเพาะปลูก และรักษาในพื้นที่ที่เหมาะสมทางกายภาพ และปลอดภัยจากการรุกราน การอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ พันธุกรรมพืชแก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้แก่ เยาวชน บุคคลทั่วไป ให้มีความเข้าใจ และร่วมใจกันอนุรักษ์ พืชพรรณของไทยสืบไป