ข่าวการศึกษา

ม.นครพนม ประชุมวิชาการระดับชาติ แลกเปลี่ยนงานวิจัยและสร้างเครือข่ายทางวิชาการ ภายใต้หัวข้อ “เขตต์โขงนครา ภูมิธรรม ภูมิปัญญา เพื่อการพัฒนานวัตกรรม และเศรษฐกิจ BCG”

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนครพนม จัดประชุมวิชาการระดับชาติ ศรีโคตรบูรณ์ศึกษา ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “เขตต์โขงนครา ภูมิธรรม ภูมิปัญญา เพื่อการพัฒนานวัตกรรม และเศรษฐกิจ BCG” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนงานวิจัยและสร้างเครือข่ายทางวิชาการ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.กรไชย พรลภัสรชกร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ เป็นประธานเปิดงาน ณ ห้องนาคราช ชั้น 1 อาคารศรีโคตรบูรณ์ วิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยนครพนม (เขตพื้นที่ศรีโคตรบูรณ์) ต.ขามเฒ่า อ.เมือง จ.นครพนม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิสาข์ จรัสกมลพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนครพนม ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย 22 หน่วยงาน จาก 17 มหาวิทยาลัย ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน Friends of Development เพื่อนการพัฒนา สมาคมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้า (ประเทศไทย) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี คณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

โดยมีผู้ที่ผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิและพิจารณาผ่านเกณฑ์ เพื่อนำเสนอบทความ ทั้งหมด 8 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ และศิลปวัฒนธรรม ด้านนวัตกรรมศึกษาและการเรียนรู้ ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ด้านนวัตกรรมการดูแลสุขภาพบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านวิทยาการจัดการการท่องเที่ยวและการจัดการประชุม และด้านชายแดนศึกษา จาก 66 บทความ ซึ่งมีการแบ่งการนำเสนอบทความแบบบรรยาย ทั้งในรูปแบบ Online และ Onsite รวม 34 บทความ และมีบทความระดับบัณฑิตศึกษาอีก 32 บทความ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนงานวิจัยและสร้างเครือข่ายทางวิชาการอย่างต่อเนื่องทุกปี

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.กรไชย พรลภัสรชกร เปิดเผยว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งอัตราการเติบโตดังกล่าวไม่เพียงพอในการนำพาประเทศให้ก้าวข้าม “กับดับประเทศรายได้ปานกลาง” และลดความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนา เศรษฐกิจ และสังคม โดยอาศัยฐานความเข้มแข็งของประเทศอันประกอบด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ส่งเสริมและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นเจ้าของสินค้า และบริการมูลค่าสูง ที่ยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการ นำเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ที่ช่วยทลายข้อจำกัด ให้เกิดการก้าวกระโดดของการพัฒนาต่อยอด และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่งแบบทั่วถึง (Inclusive Growth) ด้วยด้วยการใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG Model”

ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ BCG Model มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสอดรับกับหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย มหาวิทยาลัยนครพนม จึงใช้แนวคิด BCG นี้ เป็นสำคัญในการคัดเลือกบทความเข้าร่วมนำเสนองาน ด้วยความมุ่งมั่นให้ผลงานวิจัยเหล่านี้เป็นฐานการต่อยอดการพัฒนา ไปจนถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. เทิดชาย ช่วยบำรุง ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต คณะการจัดการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมเป็นองค์ปาฐก เรื่อง “Soft Power บนฐาน BCG ดีอย่างไรและทำอย่างไรถึงจะยั่งยืน” ด้วย