ข่าวการศึกษา

คณะวิทยาศาสตร์ มข. พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ และ การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติ

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 11 มี.ค. 2567 ที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์วัฒนา พัฒนากูล หัวหน้าสาขาวิชาชีววิทยา และ รองศาสตราจารย์ชนกพร เผ่าศิริ หัวหน้าสาขาวิชาเคมี ร่วมแถลงข่าวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 21 (TBO21) และ การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20 (TChO20) จัดโดยคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) เจ้าภาพจัดการแข่งขัน

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าโครงการโอลิมปิกวิชาการ เป็นโครงการของมูลนิธิ สอวน. ที่มุ่งพัฒนาความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา รวมทั้งส่งเสริมการยกระดับกระบวนการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของบุคลากรด้านการศึกษาเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ มข. ได้รับมอบให้เป็นศูนย์ สอวน. ระดับภูมิภาค ภายใต้ชื่อ ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา โดยรับผิดชอบดำเนินการรับสมัครและสอบคัดเลือกนักเรียนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 14 จังหวัด รวมทั้งจัดอบรมนักเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ เพื่อคัดเลือกนักเรียนเป็นตัวแทนศูนย์ฯ ไปแข่งขันในระดับชาติ 2 สาขา ได้แก่ การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 4-8 เมษายน 2567 และการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 13-17 พฤษภาคม 2567 ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ร่วมฉลองในวาระครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่น

“การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ จะมีผู้เข้าแข่งขันเป็นนักเรียนผู้แทนศูนย์ สอวน. จากทั่วประเทศ ศูนย์ละ 6 คน และมีอาจารย์ผู้แทนศูนย์ฯ เป็นผู้ควบคุมทีมๆ ละ 3 คน มีการแข่งขันทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติการ นักเรียนที่มีศักยภาพสูงจะได้ผ่านเข้าอบรมที่ สสวท. เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ เป็นการผลักดันโครงการผลิตและพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ”

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารการแข่งขัน ผ่านทาง official page ของการแข่งขัน TBO21 และ TChO20 รวมทั้งช่องทางสื่อโซเชียลของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น