ข่าวการศึกษา

เลขา กพฐ.กระตุ้น ครู ลดเสี่ยงซึมเศร้า เปิดโครงการพร้อมกอดเสี่ยวฮัก โมเดล ต้นแบบความปลอดภัยในการป้องกันแก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าด้วยนวัตกรรม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารอนุสรณ์ 100 ปี โรงเรียนกัลยาณวัตร จ.ขอนแก่น ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่ม และศึกษานิเทศก์ พร้อมทั้งมอบนโยบายและบรรยาย เรื่อง ความปลอดภัยในสถานศึกษา และแถลงข่าวเปิดตัวต้นแบบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปลอดภัยด้วยนวัตกรรม PROMPT GHOD SIAO HUGS Model (พร้อมกอดเสี่ยวฮัก โมเดล)

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ต้นแบบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปลอดภัยด้วยนวัตกรรม PROMPT GHOD SIAO HUGS Model (พร้อมกอดเสี่ยวฮัก โมเดล) ให้สถานศึกษาในสังกัดดำเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โครงการคัดเลือกสถานศึกษารับรางวัลระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โครงการพัฒนาความเข้มแข็งระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โครงการติดตามแก้ไขปัญหา เด็กนักเรียนกลุ่มพิเศษ กลุ่มมีปัญหา โครงการเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนนในสถานศึกษา โครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุขและโครงการความปลอดภัยในสถานศึกษา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น จึงได้นำระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา ด้านการนำนักเรียนที่หลุดออกจากระบบ กลับเข้าสู่การเรียนรู้ในระบบ มากำหนดเป็นนโยบายของเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพด้วยนวัตกรรม SIAO SMART PLUS Model (พร้อมกอดเสี่ยวฮัก โมเดล) เพื่อขับเคลื่อนต้นแบบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ด้านความปลอดภัยและการป้องกันแก้ไขภาวะซึมเศร้า ด้วยนวัตกรรม PROMPT GHOD SIAO HUGS Model ซึ่งจะใช้เป็นต้นแบบและขยายผลสู่สำนักงานเขตพื้นที่อื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่นักเรียน ข้าร้าชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนบุคลากรอื่น”

เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวอีกว่า จากปัญการแพร่ระบาดของโควิด 19 จนทำให้ไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนในภาวะปกติได้ และเมื่อโรงเรียนกลับมาเปิด on site ทำให้พบว่าเด็กมีปัญหาด้านสุขภาพจิตค่อนข้างมาก เช่น มีเด็กกระโดดตึก ปัญหาการบูลลี่ ปัญหาความเครียดในการเรียน จนเข้าสู่ภาวะโรคซึมเศร้า

“จากปัญหาดังกล่าว สพฐ. ได้ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการออกแบบการแก้ปัญหาเรื่องเด็กซึมเศร้าร่วมกัน และจากการที่จังหวัดขอนแก่น เป็นจังหวัดศูนย์กลางของภูมิภาคอีสาน เป็นศูนย์รวมทางการแพทย์สาขาต่างๆมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนนักศึกษาแพทย์พยาบาลหรือคณะศึกษาศาสตร์อยู่ในที่เดียวกัน และ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีความพร้อมในการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อหารูปแบบในการแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าในตัวครูและนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนแห่งความสุข เป็นโรงเรียนนำร่อง ในการทดลอง และแบ่งขนาดของโรงเรียน เป็น โรงเรียนขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และมีการถอดบทเรียน ทั้งภาพความสำเร็จ และความล้มเหลว จากนั้นจะพัฒนารูปแบบจนเห็นปัจจัย เห็นรูปแบบที่ชัดเจน เพื่อนำไปเผยแพร่และนำไปใช้ทั่วประเทศต่อไป”

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดการซึมเศร้ามาจากหลายปัจจัย คือ ครอบครัว ปัญหาการขาดความอบอุ่น ครอบครัวแตกแยก รวมไปถึงเศรษฐกิจของประเทศไม่ดี พ่อแม่ทิ้งลูกหลานไว้กับตายาย และพ่อแม่ไปทำงานที่อื่น ทำให้ลูกอยู่เพียงลำพัง และสภาพสังคมในยุคปัจจุบันที่มีความเจริญก้าวหน้ามากไป คนไม่มีโอกาสได้มาสร้างกิจกรรมร่วมกัน ต่างคนต่างอยู่ ทำให้เกิดปัญหาและโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้นในโรงเรียนต่างๆจึงควรหยิบยกเอาสภานักเรียน นำเอากลุ่มนักเรียน กลุ่มเพื่อนให้เข้ามาหาทางช่วยเหลือกันและกัน โดยมีการปรับโรงเรียนเป็นบ้าน ครูเป็นพ่อแม่ พี่กับน้องเป็นญาติอยู่ร่วมกัน เปลี่ยนโรคซึมเศร้าให้เป็นโลกแห่งความสุข หรือเป็นโรงเรียนแห่งความสุขในอนาคต