ข่าวการเมือง

สกลนคร รมว.ยุติธรรม ติดตามการแก้ไขปัญหายาเสพติด

วันที่ 4 ก.พ. 2567 ที่วัดสว่างแสงจันทร์ บ้านดงมะไฟ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ พร้อมด้วย ดร.นิยม เวชกามา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาประจำ รองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม , พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) นางสกุณา สาระนันท์ นายเกษม อุประ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จังหวัดสกลนคร นายชุมสาย ศรียาภัย คณะทำงานรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายพลรักษ์ รักษาพล คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม เพื่อติดตามและมอบนโยบาย การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมี นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ปลัดจังหวัดสกลนครหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอทั้ง 18 อำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำอาสาสมัคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จำนวน 300 คน ร่วมให้การต้อนรับ

จังหวัดสกลนคร ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ระยะ 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick Win) ดำเนินการตามมาตรการ ปราบปราม ป้องกัน และบำบัดรักษา โดยพบว่า ปัญหาของผู้ที่เข้ารับการบำบัดรักษา จะมีอาการทางจิตเวช และส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาของกระทรวงสาธารณสุข จึงกลายเป็นปัญหา ที่ครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องร่วมมือกันในการดูแล เพื่อทำให้ การแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำขอให้ ทุกภาคส่วน เอาจริงเอาจัง ในการช่วยเหลือลูกหลาน ให้พ้นจากยาเสพติดให้ได้ โดยต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด การจัดการยาเสพติด ต้องเริ่มที่แหล่งต้นตอ ซึ่งมีการลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดน การจับกุมยึดทรัพย์เครือข่ายกลุ่มนักค้า การจัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขปัญหาด้านจิตเวชจากยาเสพติด และการจัดการแหล่ง แพร่ระบาดในหมู่บ้าน/ชุมชน การเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ให้เข้ารับการบำบัดรักษา และการป้องกันในกลุ่มต่างๆ ทุกระดับ โดยการใช้ กลไกชุมชน เป็นฐาน สร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2567 ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายของแผนปฏิบัติ ไว้ใน 4 ลด คือ ลดความรุนแรงจากภาวะทำงจิตเวชในสังคม ลดผู้เสพ/ผู้ติด ลดการค้ายาเสพติดที่แพร่ระบาดในหมู่บ้าน/ชุมชน และ ลดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดยาเสพติด