ข่าวการเมือง

ขอนแก่น สว.ติดตามการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนเพื่อลดอุบัติเหตุ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 มีนาคม 2567 ที่ ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา พร้อมด้วยอนุกรรมการ ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ติดตามการดำเนินงานด้านปลอดภัยทางถนน และเสนอแนะการดำเนินงานเพื่อลดอุบัติเหตุ โดยมีนายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและร่วมประชุม เพื่อรับฟังการนำเสนอสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า จากที่ได้รับรายงานรพบว่าจังหวัดขอนแก่น ยังเป็นจังหวัดที่มีสถิตืการเกิดอุบัติเหตุทางถนนอยู่ในเกณฑ์ที่สูง เฉลี่ยจะมีผู้เสียชีวิตทุกวันวันละ 1 ราย โดยเฉพาะตัวเลขผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุท้องถนนในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีที่ 2565 จังหวัดขอนแก่นยังมีสถิติกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีก   หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดขอนแก่น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด อำเภอ และระดับตำบลจะต้องมีความเข้มแข็งมากขึ้น ค้นหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่และเข้าไปแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนอย่างรวดเร็ว


สำหรับสถิติสาเหตุของจอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย คือ 1.การใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด 2.การดื่มแล้วขับ ซึ่งทั้งสองสาเหตุนี้จะต้องใช้มาตรการในการบังคับใช้กฎหมาย คือการตรวจจับความเร็ว การตั้งด่านตรวจความเร็วเมาแล้วขับ  จะเป็นมาตรการที่จะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนควบคู่กับการใช้มาตรการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรับรู้ในเรื่องของปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากท้องถนน 


นายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม เกิดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียชีวิตในกลุ่มประชากรวัยเด็กเยาวชน และวัยทำงาน ที่เป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดขอนแก่น พฤติกรรมเสี่ยง คือ เมาแล้วขับขี่ ขับรถเร็ว และไม่สวมหมวกนิรภัยจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้จังหวัดขอนแก่น มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และเสียชีวิตอยู่อัตราที่สูงกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยในช่วง 10 ปีย้อนหลัง ระหว่าง ปีพ.ศ. 2558 – 2566 เสียชีวิตเฉลี่ยปีละประมาณ 400 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 22.45 ต่อแสนประชากร จึงต้องสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนบูรณาการทั้งหน่วยงานและมาตรการต่าง ๆ เช่น การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง “จับมาก ตายน้อย, จับน้อย ตายมาก” การวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงต่าง ๆ การพยายามรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้ขับขี่ให้มีวินัยจราจร การสร้างการมีส่วนร่วมป้องกันแก้ไขปัญหาส่งเสริมให้มีการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจัง