ประชาสัมพันธ์

ผวจ.นครพนม ประเมินศักยภาพความเหมาะสมขับเคลื่อนห่วงโซ่การผลิตกล้วย “จากใบตองกล้วยธรรมดา สู่ มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ”

ที่ตำบลบ้านค้อ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นำทีมลงพื้นที่ประเมินศักยภาพและความพร้อมการปลูกกล้วยตานี (เพื่อใช้ใบตอง) ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง หรือห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) มุ่งเน้นการเพิ่มคุณค่า มูลค่าให้กับผลผลิตที่เกิดจากรากฐานชุมชนในการผลิตที่ดี มีความเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกันเสมือนห่วงโซ่ ที่เน้นการใช้ทรัพยากรต่างๆในท้องถิ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า การเชื่อมโยงทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีประเด็นในการแลกเปลี่ยนจากกลุ่ม (ต้นทาง) ผู้ปลูกกล้วยตานี กลุ่ม (กลางทาง) ผู้แปรรูปหรือใช้บรรจุภัณฑ์จากใบตอง (รีดใบตอง) กลุ่ม(ผู้ใช้ประโยชน์/การตลาด) ผู้ใช้ใบตองห่อกะละแม) ร่วมนำเสนอข้อมูลสนับสนุนการขับเคลื่อนตามแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” (ความต้องการซื้อ และความต้องการขาย) กลุ่ม(ต้นทาง) ผู้ปลูกกล้วยตานี ตรวจเยี่ยมแปลง นางพรตา เรืองนาราม บ้านเลขที่ 118 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม และมีทีมผู้นำชุมชนประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวม 13 หมู่บ้าน ผู้ร่วมให้ข้อมูล ประกอบการตัดสินใจให้การสนับสนุนการใช้ประโยชน์ห่วงโซ่การปลูกกล้วยตานี

โดยนายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห พัฒนาการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นางวรนุช กรุงเกต ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และทีมนักวิชาการพัฒนาชุมชน ร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากงานวิจัยเรื่องใบตองแล้ว มหาวิทยาลัยนครพนม ยังคิดรูปแบบการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกและมาตรฐานใบตองรีด และแนวทางการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม (เตารีดใบตอง, เครื่องปั๊มใบตอง) รวมถึงสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ได้เก็บข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า มีการเชื่อมโยงช่องทางการตลาดเครือข่ายกลุ่มแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ในธุรกิจอื่นๆ เช่น หมูยอ ธุรกิจแหนม การห่อข้าวต้มมัด การทำพานบายศรี ขันหมากเบ็ง เศียรพญานาค เพื่อบูชาองค์พระธาตุพนม และพระธาตุสำคัญประจำวันเกิด ทั้ง 7 พระธาตุในจังหวัดนครพนม รวมถึงการทำพานบายศรีบูชาพญาศรีสัตตนาคราช ให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดนครพนม ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ได้สักการะบูชาอีกด้วย

จากการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการยกระดับเมืองรองและกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1/2567 วันที่ 10 มกราคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล ตามโครงการยกระดับเมืองรองสู่เมืองหลัก 10 จังหวัด หนึ่งในนั้นมีจังหวัดนครพนมด้วย โดยกำหนด 3 แกนหลักสำคัญ คือ 1. Unlock Potential เมืองรอง (Tourism,Cultural, and Food)และส่งเสริมเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรมไทยที่ดี/ยกระดับระบบคมนาคมเชื่อมโยงจังหวัดใกล้เคียง/เร่งส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ เป็นต้น 2. สร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี (สาธารณูปโภคพร้อม/เป็นโมเดลต้นแบบเมือง Net Zero/จัดระบบจัดการขยะครบวงจร) และ 3. ช่วยเหลือเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน (กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย/มาตรการส่งเสริมคนเก่งกลับภูมิลำเนา/ส่งเสริมการจ้างแรงงานเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ คนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น)

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้มีข้อสั่งการให้จัดทำแผนการขับเคลื่อนบูรณาการห่วงโซ่การผลิตกล้วย “จากใบตองกล้วยธรรมดา สู่ มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” ตั้งแต่การปลูกกล้วย/การดูแลรักษา/โรคภัยต่างๆและการจำหน่ายสู่ร้านค้าที่ใช้ประโยชน์ พิจารณากลุ่มเป้าหมายนำร่องใน 2 ลักษณะ คือ ในครัวเรือนของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของกรมการพัฒนาชุมชน เชื่อมโยงหมู่บ้านต้นเงิน ของมหาวิทยาลัยนครพนม ได้ทำวิจัยไว้แล้ว และพิจารณาปลูกในพื้นที่โคก หนอง นา โมเดล จัดหาแหล่งงบประมาณมาสนับสนุน การดำเนินโครงการ เช่น งบพัฒนาจังหวัด การระดมทุนจากกองทุนชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้านฯ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตฯ การจัดทำผ้าป่า เป็นต้น รวมถึงองค์กรการกุศลของจังหวัด เช่น มูลนิธิพญาศรีสัตตนาคราช โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม จัดทำแนวทาง/จัดทำแผนงาน/โครงการให้พร้อมสำหรับเตรียมการขับเคลื่อนโครงการฯ