ประชาสัมพันธ์

ขอนแก่น วช. ร่วมสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม

วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด อ.เมือง จังหวัดขอนแก่น ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนา ในรูปแบบ Video Conference ผ่านโปรแกรม Zoom จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมร่วมกับ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPO จัดการเสวนา เรื่อง “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM.ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดยมีนายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิภาค ผศ.อาวุธ ยิ้มแต้ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศและภาคีเครือข่ายให้การต้อนรับและร่วมสัมมนา

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประสบปัญหามลพิษทางอากาศและได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศ พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นไปอีก

การจัดประชุมสัมมนา “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ นำองค์ความรู้ข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจน และยังมีข้อข้องใจเกี่ยวกับฝุ่นละออง PM2.5 คลายข้อสงสัยให้กับนักวิชาการและประชาชนทั่วไป เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการประสานกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ตลอดจนหน่วยราชการและสถาบันการศึกษาในพื้นที่เกิดความตระหนักรู้และเตรียมวางแผนการวิจัยเฝ้าระวังปัญหาต่อไปในอนาคต

ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ กล่าวว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันคลายข้อสงสัยแก่ประชาชนในการเฝ้าระวังกับการเผชิญเหตุ PM2.5 ที่สูงขึ้นในพื้นที่ ให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงทางวิชาการที่ถูกต้องและครบถ้วน ให้เกิดความกระจ่างและคลายข้อสงสัยให้กับประชาชน และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยน เผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับฝุ่น PM25 ปัญหามลพิษทางอากาศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งตอนบนและตอนล่าง โดยผู้เชี่ยวชาญจะมานำเสนอข้อมูลแก่ประชาชน เกี่ยวกับการจัดการแหล่งกำเนิดและที่มาของฝุ่น PM25 การจัดการกับปัญหาการเผาป่าและการเผาในที่โล่งภาคการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเรื่องหมอกควันข้ามแดน ที่แหล่งกำเนิดมาจากประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะลุ่มน้ำโขง แล้วเกิดการเคลื่อนที่ของมลพิษในระยะไกลเข้ามาในประเทศไทย