ประชาสัมพันธ์

จัดใหญ่มหกรรมประกวดควายลุ่มน้ำปาวเมืองน้ำดำ

คนเลี้ยงควายเมืองน้ำดำ  จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมภาคีเครือข่ายจัดใหญ่มหกรรมประกวดควายลุ่มน้ำปาว ครั้งที่ 1  ชูศักยภาพกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงควายในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์  พร้อมพัฒนาสายพันธุ์ กระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างมาตรฐานควายกาฬสินธุ์ให้เป็นที่ยอมรับ

ที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (พื้นที่ในเมือง)  รศ.จีระพันธ์  ห้วยแสน  อธิการบดี  มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมประกวดควายลุ่มน้ำปาว ครั้งที่ 1  ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มคนเลี้ยงควายลุ่มน้ำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมี ผศ.ดร.กีรวิชญ์ เพชรจุล  คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร  ดร.สมจิตร์  กันธาพรม  เครือข่ายคนเลี้ยงควาย  ภาครัฐ และภาคเอกชน  ในงานเกษตรแฟร์กาฬสินธุ์ ครั้งที่ 2 ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์  ซึ่งปีนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนและคนเลี้ยงควายเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะการประกวดควายที่มีควายเข้าร่วมประกวด ทั้งหมด 144 ตัว ในรุ่นต่าง ๆ ทั้งควายไทย ควายลูกผสม และความเผือก เพศผู้และเพศเมีย

โดย ดร.ดนัย  หวังบุญชัย  ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. พร้อมคณะโดยชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก อ.สหัสขันธ์  บริษัท สหัสขันธ์ จูราสสิก แอนด์ ทราเวล จำกัด  ได้สนับสนุนการจัดมหกรรมประกวดควายลุ่มน้ำปาวครั้งที่ 1  ที่ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่เชื่อมโยงถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน  จากนั้นได้มอบรางวัลให้กับการประกวดควายเผือก และเยี่ยมชมควายที่มาร่วมประกวดท่ามกลางบรรยากาศสุดคึกคักของกองเชียร์ ผู้ชมประกวดควายจำนวนมาก

รศ.จีระพันธ์ ห้วยแสน  อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า  ในงานเกษตรแฟร์กาฬสินธุ์  ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์  ปีนี้พิเศษซึ่งเปิดให้มีการจัดประกวดควายลุ่มน้ำปาว ครั้งที่ 1 ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมการประกวด และมาชมควาย อย่างคึกคัก โดยเฉพาะควายที่เดินทางมาโชว์ตัวปีนี้มีราคาสูงถึง 15 ล้าน  และยังมีพ่อพันธุ์เดินทางมาโชว์ตัวภายในงานรวมมูลค่าคงเกือบร้อยล้านได้ นับว่าเป็นการรวมพลควายงาม ควายเงินล้านไว้ที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์  โดยตลอดทั้งวันมีประชาชน นักท่องเที่ยว ทุกเพศทุกวัยเดินทางมาร่วมถ่ายภาพและทำกิจกรรมกับควายภายในงาน   โดยการจัดประวกดควายครั้งนี้มีความมุ่งหวังที่จะให้มีการพัฒนาศักยภาพรอบด้านทั้งผู้เลี้ยงและควาย ไม่ว่าจะเป็นด้านสายพันธุ์  และการสร้างมูลค่าของควายกาฬสินธุ์  ที่จะต้องได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับมีความน่าเชื่อถือ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องการันตีมาตรฐานควายกาฬสินธุ์ ที่จะเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง