ข่าวสังคม

กาฬสินธุ์แนวโน้มรุนแรงเตือนพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน

พายุฤดูร้อนเริ่มพาดผ่านพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และมีแนวโน้มรุนแรงเกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ด้านผู้ว่าฯเตือนประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือ ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินเสียหาย ขณะที่องค์กรปกครองท้องถิ่น เตรียมเงินงบกลางสำรองจ่าย กรณีฉุกเฉินในการช่วยเหลือบรรเทาฟื้นฟู ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงฤดูแล้งอย่างเต็มตัว โดยพบว่าสภาพอากาศเกิดความวิปริต แปรปรวน กลางวันร้อนจัด บางวันเกิดลมพายุ และฝนหลงฤดู เริ่มสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนหลายหลังคาเรือน โดยเฉพาะล่าสุดในพื้นที่ ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ บ้านเรือนประชาชนถูกกระแสลมพัดกระหน่ำ ได้รับเสียหายหลายหลังเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ อบต.คลองขาม ได้ขอกำลังทหารช่างค่ายเปรมติณสูลานนท์ เข้าทำการซ่อมแซมฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่หลายตำบลของ จ.กาฬสินธุ์ เป็นร่องมรสุมพาดผ่าน และเคยได้รับความเสียหายจากการเกิดพายุฤดูร้อนเป็นประจำทุกปี โดยในช่วงเริ่มต้นฤดูแล้งปีนี้ พบว่าได้เกิดพายุฤดูร้อน มีลมกรรโชกแรง และลูกเห็บตกในหลายหมู่บ้าน ทำให้คาดว่ามีแนวโน้มที่พายุฤดูแล้งในปีนี้จะมีความรุนแรง และขยายวงกว้างมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ด้านนายชัยธวัช เนียมศิริ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะได้รับจากผลกระทบของพายุฤดูร้อนดังกล่าว จึงขอเตือนประชาชน ได้เตรียมความพร้อมรับมือ ทั้งในส่วนของการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเวลาเกิดฝนตกฟ้าคะนอง ต้องไม่อยู่ในที่โล่ง ให้รีบหาที่หลบพายุฝนในที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันฟ้าผ่า ในส่วนของบ้านเรือนเอง ก็ให้หมั่นตรวจตราและหากพบจุดชำรุดเสียหาย ให้รีบซ่อมแซมปรับปรุงให้แน่นหนา โดยเฉพาะหลังคา ฝาผนัง ที่อาจจะถูกลมพัดพังเสียหาย หรือหากบริเวณที่พักอาศัยมีต้นไม้ใหญ่ ก็ให้ตัดแต่งกิ่งเพื่อป้องกันปัญหาการหักโค่น ขณะที่หากมีสัตว์เลี้ยงก็จัดเก็บให้อยู่ในคอก เพื่อป้องกันการตกใจตื่น ทำร้ายเจ้าของหรือสูญหาย รวมทั้งผลผลิตหรือทรัพย์สินตามเรือกสวนไร่นาก็ต้องคอยระวัง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นกัน

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า ในกรณีเกิดความเสียหายจากพายุฤดูร้อน ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่ง ก็ได้จัดเงินงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือบรรเทาฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนตามระเบียบของทางราชการ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อให้มีความปลอดภัย ได้เกิดความเสียหาย และประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ทุกคน ก้าวข้ามภัยแล้งและพายุฤดูร้อนด้วยกันอย่างสวัสดิภาพ