ข่าวสังคม

สกลนคร มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) นำคณะจาก สปป.ลาว ดูงานการเฝ้าระวังและการเตือนภัยพิบัติฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดสกลนคร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นำโดย ดร. วีระนี แสงจันท์ รองหัวหน้ากรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ ได้เดินทางมาศึกษาดูงาน และรับฟังข้อมูลการทำงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดสกลนคร โดยมี ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการมูลนิธิฯ และประธานอนุกรรมการพัฒนาความร่วมมือเพื่อการเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการบรรเทาทุกข์จากปัญหาอุทกภัยในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ฝ่ายไทย) มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย พร้อมด้วย นายพิสิษฐ์ แร่ทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน รองผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสกลนครและหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ เข้าร่วมฟังบรรยายการติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมการรับมือและป้องกันสาธารณภัย จากบทเรียนของมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสกลนคร เมื่อปี 2560

ความทราบถึง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้พระราชทานความช่วยเหลือ ตลอดจนพระราชทานพระนโยบายให้มูลนิธิ ฯ ดำเนินงานด้านการเฝ้าระวังป้องกันภัย ผ่านสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สำคัญของมูลนิธิ ฯ ตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นเพื่อใช้ติดตามสถานการณ์น้ำในภาวะปกติ และในภาวะเกิดเหตุอุทกภัยร้ายแรง ศูนย์นี้จะยกระดับเป็นศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดสกลนคร ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อการเตือนภัยและเข้าให้ความช่วยเหลือบรรเทาภัยแก่ราษฎรได้ทันสถานการณ์

จากนั้น คณะได้เยี่ยมชมภายในบริเวณศูนย์บริหารจัดการน้ำ โดยเป็นการจัดนิทรรศการของเครือข่ายมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้แก่ กลุ่มทอผ้าบ้านพันนา และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พร้อมชม นิทรรศการ และการสาธิตเครื่องจักรกลสาธารณภัยของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 สกลนคร

ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ กล่าวว่า การศึกษาอบรมดูงานครั้งนี้ เป็นผลพวงจาก พระกรุณาธิคุณใน องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และ องค์ประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือ ระหว่างมูลนิธิ ฯ กับหน่วยงานของ สปป.ลาว ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในแขวง อัตตะปือ สปป.ลาว เพื่อให้ประชาชนทั้งไทยและลาวตลอดทั้งสองฝั่งโขง มีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ มูลนิธิฯ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาความร่วมมือเพื่อการเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการบรรเทาทุกข์จากปัญหาอุทกภัยใน สปป. ลาว (ฝ่ายไทย) และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้แต่งตั้งคณะรับผิดชอบในการประสานงานและทำงานร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย (ฝ่าย สปป.ลาว) เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เกิดความร่วมมือระหว่างทั้ง สองประเทศ โดยฝ่ายไทย ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อสนับสนุนการเตือนภัยอย่างยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง สปป. ลาว จำนวน 11 สถานี กระจายตัวครอบคลุมตั้งแต่ตอนเหนือสุด คือ แขวงบ่อแก้ว ไปจนถึงตอนใต้สุด คือ แขวงสาละวัน แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการสูญเสียก่อนเกิดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวทางเตือนภัย เฝ้าระวัง และบรรเทาทุกข์

ด้าน ดร.วีระนี แสงจันท์ ผู้แทนจากคณะสปป. ลาว กล่าวว่า จากการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร เพื่อการเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการบรรเทาทุกข์จากปัญหาอุทกภัย ระหว่าง มูลนิธิฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่จะได้ร่วมกันเพื่อการเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการบรรเทาทุกข์จากปัญหาอุทกภัยในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งรวมถึงแผนปฏิบัติการในการติดตั้งสถานีโทรมาตรในระยะที่ 2 และแผนงานกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย

โดยการศึกษาดูงานในครั้งนี้ ยังได้ลงพื้นที่ อำเภออากาศอำนวย เพื่อติดตามการใช้สถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อการเตือนภัย ที่บริเวณสะพานลำน้ำยาม รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ผลการดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนของตำบลวาใหญ่ ที่บริวณหนองบ่ออ้อ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำสำรองไว้ใช้ในหน้าแล้ง บริเวณหนองโสก โดยเป็นการฟื้นฟู พัฒนา และเชื่อมโยงแหล่งน้ำเพื่อการพัฒนาดิน น้ำ ป่า ชมแปลงเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันของคณะศึกษาดูงาน