ข่าวสังคม

หมอปลาพร้อมพวก ขอขมาพระเทพวรมุนี หลังถูกทนายอนันต์ชัย ฟ้องหมิ่นฯปมใส่ร้ายค้างเงินสร้างวัด

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร นายจิรพันธ์ เพชรขาว หรือหมอปลาพร้อมด้วยภรรยา และพวกมีทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ และนางสาววรรณวิสา ประทุมวัน ได้เดินทางมาที่วัดพระธาตุพนม เพื่อทำพิธีขอขมา ต่อพระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม กรณีถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ก่อนหน้านี้และสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยตกลงยอมความกันได้ และนัดทำพิธีกราบขอขมากันในวันนี้

โดยพิธีขอขมาจัดขึ้นที่บริเวณลานหน้าองค์พระธาตุพนม มีทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ นำกล่าวคำขอขมาความว่า จากการที่ข้าพเจ้า….ได้กล่าวประมาทพลาดพลั้งสบประมาท กล่าวข้อความอันเป็นเท็จต่อพระเทพวรมุนี โดยกล่าวหาว่า ท่านค้างค่าบูรณะก่อสร้างถาวรวัตถุวัดมรุกขนคร กว่า 1 ล้านบาท นั้นบัดนี้ ข้าพเจ้า…ได้ทราบความจริงแล้วว่า วัดมรุกขนคร บูรณะสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2536 โดยหม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ ซึ่งเป็นราชเลขาธิการ และคุณหญิงบุญศรี สนธยางกูร พร้อมด้วยศรัทธาญาติโยมทั่วสารทิศทุกหนแห่ง โดยให้คณะกรรมการเป็นผู้ดูแลการบูรณะก่อสร้าง ผู้ที่จ้างการบูรณะสร้างวัดมรุกขนคร คือ ท่านคุณหญิงบุญศรี สนธยางกูร ซึ่งในช่วงดังกล่าวได้มีการว่าจ้างบุคคลต่างๆ หลายคนรวมถึง นายสมเกิด ภูทัศน์ ด้วย แต่ปรากฏว่าเกิดความล่าช้า ไม่เป็นไปตามสัญญาว่าจ้าง ด้วยเหตุนี้ นางชิราภรณ์ เจริญนาม หรือผู้ใหญ่ยุ้ยจึงได้ยกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2539 ซึ่งต่อมาบุตรสาวและบุตรชายของคุณหญิงบุญครี สนธยางกูร ก็ได้ดำเนินการว่าจ้างช่างของตนเองมาบูรณะก่อสร้างวัคมรุกขนคร จนแล้วเสร็จในปี 2539 ซึ่งในขณะนั้นพระเทพวรมุนี ยังมิได้เป็นเจ้าอาวาสวัดมรุกขนครแต่อย่างใด พระเทพวรมุนี เพิ่งมาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อประมาณวันที่ 25 ธันวาคม 2339 เพราะฉะนั้น พระเทพวรมุนีจึงมิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการว่าจ้าง การจ่ายค่าจ้างแต่อย่างใด

ข้าพเจ้า… จึงขอสำนึกผิด และกราบขอขมาโทษต่อพระเทพวรมุนี ขอท่านโปรดอภัยและงดโทษให้แก่ข้าพเจ้า… ด้วยเทอญฯ

โดยพระเทพวรมุนี ได้กล่าวตอบว่าโดยส่วนตัวไม่เคยถือโทษผู้ใดเลย ที่มีการฟ้องร้องก็เป็นเรื่องของทนายความ ต่อไปก็ขอให้ระมัดระวังให้มากกว่านี้ ครั้งนี้ตนอโหสิกรรมให้กับทุกคน และไม่ถือโทษโกรธเคืองใด ๆ เลย โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น โดยทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ กล่าวหลังได้กราบขอขมาพระเทพวรมุนีแล้ว ว่าตนรู้สึกดีใจและสบายใจมากที่ได้มากราบขอขมาพระผู้ใหญ่ โดยท่านไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองใด ๆ ซึ่งหลังจากนี้ไปตนก็จะยังคงขอปราบปราม อลัสชี ที่อยู่ในคราบผ้าเหลืองต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

โดยต้นเหตุเกิดเมื่อราว ๆ กลางเดือนมิถุนายน 2565 นายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือหมอปลา พร้อมพวก ออกมาร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน รวมถึงเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายอนุชา นาคาศรัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวหาว่าพระเทพวรมุนี ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เมื่อครั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดมรุกขนคร ได้ค้างค่าจ้างก่อสร้างถาวรวัตถุของวัดมรุกขนครที่ตั้งอยู่ที่ ต.ดอนนางหงส์ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นจำนวนเงิน 1 ล้านสองแสนบาท โดยเหตุเกิดเมื่อปี 2539
ภายหลัง ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช แม่ทัพทนายกองทัพธรรม พร้อมนายเอื้อ มูลสิงห์ ทนายกองทัพธรรมจังหวัดนครพนมและไวยาวัจกร วัดพระธาตุพนมฯ ได้รับมอบอำนาจจากพระเทพวรมุนี เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนฯ โดยรวบรวมพยานหลักฐานเสนออัยการฟ้องต่อศาลจังหวัดนครพนม ในฐานความผิดทั้งทางอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา รวมถึงเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง เป็นเงินมากกว่า 50 ล้านบาท ตามคดีหมายเลขดำที่ พ.1102/2565 ศาลจังหวัดนครพนม ข้อหาฐานความผิด ละเมิด ให้จำเลยทั้งสามโฆษณาคำพิพากษา และคำขอโทษในสื่อทุกแขนง จำนวน 46 สื่อ เป็นเวลา 7 วัน
กระทั่งมีการนัดสืบพยานที่ศาลจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 นายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือหมอปลา ได้มอบหมายให้ทนายมาเจรจาไกล่เกลี่ยและยอมรับผิด พร้อมขอขมาตามเงื่อนไข ซึ่งได้ทำข้อตกลงยินยอมที่จะมากราบขอขมาพระเทพวรมุนี ที่วัดพระธาตุพนมฯ ต่อหน้าสื่อมวลชน จำนวน 46 สำนัก ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 พร้อมมีการแถลงต่อศาลจังหวัดนครพนม ตามข้อตกลงในการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งหากจำเลยไม่มาตามนัดจะถูกนำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อไป